รถยนต์ไร้คนขับ อาจทำลายอุตสาหกรรมประกันรถยนต์แบบเดิม ๆ เพราะความแม่นยำของระบบออโตไพลอตสามารถลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ ส่งผลให้วงการประกันภัยทั่วโลกต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
บทความน่าสนใจจาก Bloomberg ระบุว่า ปัจจุบัน หลายค่ายรถได้ออกแบบระบบออโต้ไพลอต หรือ การขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีของรถยนต์ ออกมาให้บริการผู้ขับขี่ เช่น รถยนต์เทสลารุ่น โมเดล เอ็กซ์ (Tesla Model X) ซึ่งในอนาคต ระบบจะถูกยกระดับสู่การเป็นรถยนต์ไร้คนขับสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติยังถือเป็นเรื่องใหม่ของโลกเทคโนโลยียานยนต์ และจากเหตุการณ์สะเทือนใจเมื่อปีก่อน ที่รถยนต์ไร้คนขับพุ่งเข้าชนคนเดินถนนในรัฐแอริโซนา ของสหรัฐฯ ทำให้ในปัจจุบัน การทำประกันรถยนต์ที่มีระบบออโต้ไพลอตติดตั้งมาด้วยมีราคาสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 10,000 ดอลลาร์ หรือกว่า 315,000 บาทต่อปี
แม้จะเป็นเช่นนั้น บรรดาผู้ผลิตที่ยังคงฟาดฟันกันอย่างต่อเนื่องในสมรภูมิสตาร์ตอัปและนวัตกรรมต่างเชื่อกันว่า ท้ายที่สุดแล้วรถยนต์ไร้คนขับจะเป็นยานพาหนะที่ปลอดภัย แม่นยำด้วยการตรวจจับของกล้องและเซนเซอร์รอบคัน มากกว่าการขับขี่ของมนุษย์เอง อีกทั้งยังไม่มีตัวแปรเรื่องเพศ อายุ รูปร่าง หรือนิสัยใจคอมาเกี่ยวข้องกับสมรรถนะของการขับขี่ ยิ่งไปกว่านั้น สมองกลไม่สามารถที่จะหลับใน หรือเมาเหล้าได้อีกด้วยขณะเคลื่อนตัว
นั่นหมายความว่า ความอันตรายบนท้องถนนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เป็นผู้ขับขี่จะหมดไป และจะกลายเป็นภาระหนักอึ้งของบรรดาบริษัทประกันรถยนต์ที่ยอดขายจะตกลงแน่นอน
ในตลาดยานยนต์ของสหรัฐฯ ที่มีการใช้รถยนต์อย่างแพร่หลาย และการซื้อรถยนต์คันหนึ่งก็ราคาไม่ได้ทำร้ายจิตใจเท่ากับในหลายประเทศรวมถึงไทย ทำให้ตลาดประกันภัยรถยนต์มีขนาดใหญ่ถึงหลายพันล้านดอลลาร์ ค่าเบี้ยประกันภัย และรายได้บริษัทขึ้นอยู่กับประวัติ และนิสัยของผู้ขับขี่เป็นหลัก หากรถยนต์ไร้คนขับเข้ามาแทนที่บนท้องถนนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รายได้ตรงนี้ก็อาจจะหดลงหรืออาจกลายเป็นศูนย์ก็ได้เพราะไม่รู้จะขายให้กับใคร
หากยานยนต์ไร้คนขับสามารถพัฒนาอัปเกรดได้ถึงระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่ขับเคลื่อนโดยไม่ต้องมีคนขับ แต่ยังมีออปชันเสริมให้มนุษย์สามารถขับขี่ได้เองในบางครั้งที่ต้องการ และระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับที่มนุษย์ไม่มีส่วนข้องเกี่ยวในการขับเคลื่อนแล้ว ระบบประกันรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์จะหมดความสำคัญลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รอดนีย์ พาร์กเกอร์ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา กล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจาก 'ผู้ขับขี่' ไม่ใช่ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ อีกต่อไป แต่ความเสี่ยงจะโยกไปที่ผู้ผลิตระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และผู้ถือลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับแทน นั่นหมายความว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนจะไม่ใช่ความผิดคนขับอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของกระบวนการผลิตที่มีปัญหามากกว่า
งานวิจัยฉบับหนึ่งจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีสตีเวนส์ แห่งนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2017 ระบุว่า ในปี 2035 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า มูลค่าเบี้ยประกันรวมของทั้งสหรัฐฯ จะตกลง 12.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ บรรดาบริษัทประกันจะต้องออกประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ ที่โฟกัสการประกันรถยนต์ไร้คนขับมากขึ้นเพื่อเป็นการเอาตัวรอดในยุคแห่งเทคโนโลยีอันก้าวล้ำของยานยนต์
วิจัยฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า บรรดาบริษัทประกันภัยยังจะพอมีเวลาที่จะขยับปรับโครงสร้างไปพร้อม ๆ กับผู้ผลิตรถยนต์ เพราะคาดการณ์ว่า ในปี 2035 จะมีรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนเฉลี่ยราว 23 ล้านคันเท่านั้น ซึ่งยังคิดเป็นอัตราส่วนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์บนท้องถนนทั้งหมดในปัจจุบันของสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ โดยสถาบันวิจัยสตีเวนส์แนะนำว่า ประกันรูปแบบใหม่ของรถยนต์ไร้คนขับในระยะสั้นอาจจะโฟกัสไปในเรื่องของการซ่อมบำรุงไปก่อน เนื่องจากในระยะที่รถยนต์ไร้คนขับยังมีการใช้ไม่แพร่หลาย ค่าซ่อมต่าง ๆ น่าจะยังมีราคาสูงอยู่ตามอุปสงค์ของตลาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อยังไม่มีรถยนต์ไร้คนขับสัญจรไปมาให้เกิดสถานการณ์จริง จึงเป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรู้ว่า การตัดสินถูกผิดของเคสอุบัติเหตุต่าง ๆ บนท้องถนนแห่งโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร และผู้ผลิตฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด เช่น หาก ไลดาร์ (LIDAR) เทคโนโลยีอีกขั้นของเรดาร์ ที่เป็นเซนเซอร์วัดแสงติดบนหลังคารถ และเป็นอุปกรณ์หัวใจสำคัญของรถยนต์ไร้คนขับเกิดพังขึ้นมา ความเสียหายดังกล่าวจะเป็นความผิดของผู้ผลิตรถยนต์ หรือบริษัทผู้ถือเทคโนโลยีไลดาร์กันแน่
หรือถ้ากรณีเจ้าของรถยนต์ลืมอัปเกรดเฟิร์มแวร์จนเกิดอุบัติเหตุ ถ้ารถยนต์ขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ตขณะวิ่ง ๆ อยู่ขึ้นมา ฝ่ายใดควรรับผิดชอบ? ซึ่ง คีธ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเชตส์ ชี้ว่า นี่ยังเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องร่วมกันหาทางออก ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญ เฮจิน ยอน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์เทิร์น กลับมองต่างว่า ปัญหานี้จะถูกแก้ได้ด้วยนโยบาย และรัฐบาลต่างหากจะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการหาทางออกให้กับประชาชน ทั้งในฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีข้อถกเถียงที่ยังไม่มีคำตอบเร็ว ๆ นี้ แต่สตาร์ตอัปด้านประกันภัยหลายบริษัทต่างเตรียมเปิดตัวไลน์ประกันรองรับความเสี่ยงของรถยนต์ไร้คนขับไว้แล้ว อย่างเช่น เอวินิว (Avinew) ที่พัฒนามาจากสตาร์ตอัปประกันสุขภาพ ด้วยความเชื่อว่าอนาคตการประกันรถยนต์น่าจะเป็นเรื่องของการประกัน 'สินค้า' มากกว่า 'คน' อย่างแน่นอน เพราะการเดินทางสัญจร จากการคมนาคมจะกลายเป็นเรื่องของการให้บริการแทน
เอวินิวกำลังเตรียมเสนอประกันสำหรับรถยนต์กึ่งไร้คนขับ และรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ ซึ่งหลังจากเปิดตัวบริษัทเมื่อ 30 มกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้เอวินิวทำงานร่วมกับค่ายรถที่มีระบบออร์โตไพลอต ไม่ว่าจะเป็น เทสลา นิสสัน ฟอร์ด และคาดิลแลค โดยประกันภัยของเขาจะมอนิเตอร์ศึกษารูปแบบการทำงานของรถยนต์ประเภทดังกล่าว
แดน พีต ผู้ก่อตั้งเอวินิว มองว่า ธุรกิจประกันรถยนต์ไร้คนขับ สามารถหาเงินได้จากอีกทางคือ 'ข้อมูล' ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในซอฟต์แวร์รถยนต์อยู่แล้ว ขณะที่ บรรดาประกันภัยเจ้าใหญ่เสนอทางออกคล้าย ๆ กันในการหันมาขายประกันให้ผู้ผลิตรถแทน