หลังจากที่ก่อนหน้านี้อิสราเอลได้ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อจากห้องแล็ป โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ ล่าสุดบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง ไทสัน ฟูดส์ ได้เข้ามาร่วมลงทุนในโปรเจกต์นี้แล้ว เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อ และตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีมากขึ้นของประชากรโลกด้วย
ไทสัน ฟู้ดส์ บริษัทผลิตอาหารและเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของอิสราเอล เพื่อพัฒนาวิธีการผลิตเนื้อสัตว์ที่สามารถทำได้จากห้องแล็ป โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์
โดยเทคโนโลยีเนื้อสัตว์แห่งอนาคตนี้จะเน้นการผลิตเซลล์ไขมันและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งต่างกำลังแข่งขันกันพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยการใช้พื้นที่ทำปศุสัตว์ และสามารถผลิตไขมันและสารโพลีอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน ที่ทำให้คนรู้สึกอยากรับประทานเนื้อ ซึ่งไขมันที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการนั้น สามารถนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ได้ เพื่อให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับการอนุมัติจาก Yissum ซึ่งเป็นบริษัทประเภท Transfer Technology ของมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม
นอกจากไขมันที่ได้และการนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นได้แล้ว ศาสตราจารย์ยาคอฟ นาห์มิส ผู้ก่อตั้งและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำแล็ปนี้ยังระบุอีกว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์แบบปกติมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 630,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขณะนี้ต้นทุนจากการผลิตเนื้อในห้องแล็ปสามารถทำให้ลดลงได้เหลือเพียง 100 ดอลลาร์ หรือราว 3,100 บาท และจะทำให้เหลือเพียง 5 ดอลลาร์ หรือราว 158 บาท ภายในปี 2019
นอกจากนั้น การผลิตเนื้อจากแล็ปยังมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ได้ประเมินว่าเนื้อที่เพาะเลี้ยงภายในแล็ปจะช่วยลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 96 เปอร์เซ็นต์ และลดความต้องการที่ดินในการทำปศุสัตว์ลง/ โดยนาห์มิส หวังว่าในเวลาอีก 10 ปี เกษตรกรจะใช้เทคโนโลยีการผลิตสัตว์ในลักษณะเครื่องทำเนื้อ เหมือนกับที่พวกเขามีเครื่องทำขนมปัง
ทั้งนี้ไทสัน ฟูดส์ ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตโปรตีนจากพืช ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเช่นกัน เพราะเล็งเห็นว่าในอนาคตความต้องการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการเนื้อสัตว์ที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในช่วงปี 2000 ถึง 2050 เนื่องจากประชากรโลกอาจจะมีจำนวนเกินกว่า 9 พันล้านคน และการผลิตเนื้อสัตว์จากแล็ปอาจเป็นวิธีเดียวที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้โดยที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม
ด้วยนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรของหลายประเทศ คาดว่าจะทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งสวนทางกับที่ดินในการทำการเกษตรที่ลดลง ดังนั้น หากเทคโนโลยีผลิตอาหารทดแทนเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้น ก็จะช่วยให้เราสามารถซื้ออาหารได้ในราคาที่ถูกลง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาหารนั้นต้องมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน และต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค