ตามติดเทรนด์ดังจากโปรเจกต์ WePark ให้เช่าที่จอดรถสาธารณะสำหรับการนั่งทำงานแบบโคเวิร์กกิงสเปซ ชูจุดเด่นด้านความสะดวก ราคาประหยัด และสร้างประสิทธิภาพในการทำงานที่แปลกใหม่
WePark โปรเจกต์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสหรัฐฯ และกำลังเริ่มเป็นที่นิยมไปในเมืองใหญ่ทั่วโลก ด้วยบริการเปลี่ยนที่จอดรถสาธารณะริมทางให้กลายเป็นโคเวิร์กกิงสเปซหรือออฟฟิศนอกอาคาร ที่ใครก็สามารถมานั่งทำงานได้
วิกเตอร์ พอนทิส เจ้าของโปรเจกต์ WePark ทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เราใช้ประโยชน์จากพื้นที่จอดรถได้อย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง และถ้าสมมติว่าเราจะเริ่มต้นสร้างเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เรายังจะสร้างที่จอดรถเหมือนที่มีอยู่ตอนนี้หรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น
และเพื่อเป็นการพิสูจน์ไอเดียของเขาเอง พอนทิส ตัดสินใจเปลี่ยนที่จอดรถสาธารณะในบริเวณศาลาว่าการของนครซานฟรานซิสโก ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้กลายเป็นโคเวิร์กกิงสเปซกลางแจ้งแบบชั่วคราว ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจอย่างมากเมื่อมีผู้คนให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลาย โดยพวกเขาต่างทยอยเดินทางมาใช้บริการ และนั่งทำงานร่วมกันบนเก้าอี้พับได้ และโต๊ะแบบพกพา ที่ยกมาวางบนจุดจอดรถริมทาง
ผู้มาใช้บริการหลายคนใช้พื้นที่ดังกล่าวแตกต่างกันออกไป โดยบางคนใช้พื้นที่นี้สำหรับการรับประทานมื้อกลางวันของตัวเองก่อนจะกลับไปที่สำนักงานของพวกเขา ในขณะที่บางคนเลือกที่จะมานั่งอ่านเอกสารก่อนการประชุมด้วยแสงของดวงอาทิตย์แทนที่หลอดนีออนในออฟฟิศ และในช่วงสายของซานฟานซิสโก กลุ่มนักปั่นจักรยานก็แวะเวียนมาใช้บริการอย่างคึกคัก ก่อนจะวางชามที่เต็มไปด้วยลูกกวาดลงบนโต๊ะและพูดว่าโคเวิร์กกิงสเปซนี้ 'เหมือนสำนักงานจริง ๆ'
เหตุการณ์น่าทึ่งนี้เป็นที่พูดถึงและถูกแชร์ไปทั่วโลกออนไลน์ ก่อนจะกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียในที่สุด และทำให้ผู้สนใจโปรเจกต์นี้ เริ่มร่วมตัวกันในเมืองอื่นๆอีกมากมาย เช่น บริสตอล ลอสแอนเจลลิส และพอร์ตแลนด์ พร้อมวางแผนเปลี่ยนที่จอดรถสาธารณะให้กลายเป็นสำนักงานชั่วคราวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าอีกด้วย
นอกจากโปรเจกต์ดังกล่าว พอนทิส ยังเป็นผู้ก่อตั้ง Scooter Map แอปพลิเคชันที่ช่วยผู้ใช้งานค้นหาสกูตเตอร์ไฟฟ้าจากผู้ให้บริการมากหน้าหลายตา เขาบอกว่าตนเองได้แรงบันดาลใจในการทำ WePark จากที่จอดรถจักรยานแบบเคลื่อนที่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรถพ่วง มี 4 ล้อ และทะเบียน มีขนาดเท่ารถยนต์ 1 คัน ทำให้สามารถจอดจักรยานได้มากถึง 8 คัน ทำให้ พอนทิส เกิดไอเดียการทำพื้นที่จอดรถสาธารณะมาให้บริการที่หลากหลายกว่าหน้าที่ดั้งเดิม
หลังจากเปิดตัวสำนักงานใหม่ของเขาในวันที่ 29 เมษายน บนทำเลทองที่ตั้งอยู่ข้างถนน ก็มีผู้คนสนใจเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องจ่ายเพื่อแลกกับโต๊ะและเก้าอี้สำหรับนั่งทำงานในสถานที่สุดพิเศษและแปลกใหม่ มีค่าบริการต่อชั่วโมงเพียง 2.25 ดอลลาร์ หรือ 71 บาท ซึ่งถือว่าถูกมากหากเทียบกับราคาของโคเวิร์กกิงสเปซทั่วไปในสหรัฐฯ เช่น WeWork คิดค่าบริการประมาณ 50 ดอลลาร์ หรือ 1,580 บาทต่อวัน บวกค่าสมาชิกรายเดือน
พอนทิสบอกว่า แทนที่จะเป็นจุดหมายของผู้ใช้งานรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ ที่จอดรถสาธารณะกลายเป็นโคเวิร์กกิงสเปซที่มีประสิทธิภาพมาก ผู้คนที่ต้องการทำงานสามาถใช้ไวไฟฟรีของซานฟรานซิสโกได้อย่างเต็มที่ แต่ในระหว่างที่หน้าจอของโน้ตบุ๊กปิดลงเพื่อเป็นเวลาสำหรับอาหารกลางวันหรือพักผ่อน บทสนทนาก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าอย่างน่าสนใจ มีการแบ่งปันทั้งความรู้ ไอเดีย มุมมองใหม่ รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วยในบางครั้ง
นอกเหนือจากการทำงาน ผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมาที่โคเวิร์กกิงสเปซ เพื่อเริ่มต้นภารกิจในการต่อสู้กับจิ๊กซอว์ขนาด 1,000 ชิ้น และได้รับความช่วยเหลือจากชายหนุ่มอีกคนหนึ่งเกือบจะในทันทีที่เธอหย่อนร่างกายลงบนเก้าอี้ ระหว่างที่จิ๊กซอว์กำลังประกอบร่างเธอเริ่มต้นสนทนากับเพื่อนร่วมภารกิจเกี่ยวกับความยากลำบากในการหางานทำ ก่อนที่เขาจะเริ่มพูดเกี่ยวกับงานของตนเอง ทำให้พอนทิส เชื่อว่าโคเวิร์กกิงสเปซในลักษณะนี้จะมีบรรยากาศที่ดีเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ผู้มาใช้งานรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
พอนทิสกล่าวว่า ไม่มีใครที่ WePark รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องล็อกจักรยานของตนเอง พวกเขาทิ้งกระเป๋าไว้บนที่นั่งเมื่อพวกเขาเดินไปซื้อกาแฟ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามามีส่วนร่วมและพูดคุยกับเรา ตอนนี้พวกเขามีที่จอดรถ (โคเวิร์กกิงสเปซ) เพียงแห่งเดียว จะมีอะไรเกิดขึ้นอีกมากมายเมื่อมีคนและที่จอดรถมากกว่าในปัจจุบัน
ทั้งนี้ WePark สะท้อนให้เห็นความพยายามของซานฟรานซิสโกเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ในปี 2005 พวกเขาเริ่มต้นการทำ Parklets ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่จอดรถข้างถนนให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก และทำไปสู่การเคลื่อนไหวระดับโลกอย่าง PARK(ing) Day ซึ่งเป็นวันแห่งการเปลี่ยนพื้นที่จอดรถให้กลายสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ สวนสาธารณะ นิทรรศการศิลปะ หรือร้านค้า
แม้ Parklets จะได้รับความเป็นนิยมแต่โครงการก็ถูกยุติลงชั่วคราวในปี 2015-2018 เมื่อแผนกผังเมืองเตรียมตัวเปลี่ยนแปลงจากโครงการนำร่องเป็นโครงการถาวร แต่เมื่อกลับมาเริ่มดำเนินการอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อร้านอาหารจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อติดตั้ง Parklets เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการของตนเอง สร้างเสียงวิจารณ์ตามมาจำนวนมากเมื่อประชาชนมองว่าไม่ควรจ่ายค่าบริการเพื่อใช้งานพื้นที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ WePark ได้กระจายไปทั่วโลก ริมถนนของตูลูส เมืองทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ผู้คนจ่ายเงินเพียง 1.50 ยูโร หรือ 53 บาทต่อชั่วโมง แลกกับสถานที่ในการทำงาน และพวกเขาวางแผนที่จะทำการเรียกร้องสิทธิการใช้งานที่จอดรถสาธารณะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
แม้ว่าพอนทิส จะยอมรับว่า WePark ถูกมองว่าเป็นเพียง 'เรื่องล้อเล่นระดับประเทศ' แต่เขาคิดว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นการเรียกร้องความสำคัญของพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นสำหรับทุกคน โดยเขายืนยันว่า 'คุณสามารถใช้พื้นที่นี้ แม้มันจะเป็นเพียงพื้นยางมะตอยที่อยู่ใต้ดวงอาทิตย์ คุณแค่ต้องการโต๊ะและเพื่อน ๆ'