รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 25 เมษายน 2563
“อ.พิชญ์” ชี้ “คนฆ่าตัวตาย” คือ บทเรียนรัฐบาล ที่คนไทยต้องจำ การแก้ปัญหาของรัฐบาล เหมือนไร้ทิศทาง จะช่วยคนมองแค่ถูกเลิกจ้าง แต่ยังไม่มองความเปราะบาง
“อ.วิโรจน์” ก็บอก “รัฐบาล” อัดฉีดเงินเป็นล้านล้าน แต่หวั่นว่าจะไม่ถึงรายย่อย เพราะยังส่งให้แบงก์คัดกรองตามแนวทาง แต่ไม่มองความเดือดร้อน
ข่าวการฆ่าตัวตายจากการระบาดของโควิด19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ล่าสุด 25 เมายน ที่จังหวัดสมุทรปราการ ที่ลานจอดรถหลังตลาดเพชรอารี หมู่ที่ 2 ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง พบรถบัสนำเที่ยว 2 ชั้น โดยที่ช่องประตูทางขึ้นลงของรถบัสพบศพชาย อายุ 46 ปี ชาวจ.จันทบุรี เจ้าของรถ ใช้สายไฟผูกคอตัวเองกับราวบันได จากการสอบถามหัวหน้าผู้เสียชีวิต ผู้พบศพให้การว่า ผู้ตายเคยบ่นให้ฟังเกี่ยวกับ เรื่องที่ไม่มีรายได้ส่งค่างวดรถ เนื่องจากรัฐประกาศเคอร์ฟิว ประกอบกับมาตราการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ทำให้รอบรถที่วิ่งน้อยลง ทั้งยังไม่มีใครจ้าง จึงคาดว่าผู้ตายน่าจะเกิดความเครียดจนหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายผูกคอตัวเองเสียชีวิตในรถดังกล่าว
ที่จังหวัดน่าน ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่บ้านวังหมอ อำเภอเมืองน่าน ตำรวจเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ บ้านชั้นเดียว หลังคามุงสังกะสี ผนังก่อปูน ภายในห้องโถง มีที่นอน พบศพนายชิงชัย หรือไก่ ตะลี อายุ 30 ปี ลูกชายเจ้าของบ้าน พบสายไฟฟ้า สีดำ 2 เส้น พันรอบตัวช่วงหน้าอก และบริเวณมือข้างซ้ายถือสายไฟสีดำรัดแน่นมีร่องรอยถูกไฟ ไหม้รอบบริเวณมือและมีปลั้กไฟฟ้าสีขาว วางอยู่ข้างลำตัว
จากการสอบถาม มารดาผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้พบศพ เล่าว่า ลูกชายมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้าน และได้อาศัยอยู่บ้านกับแม่ และหลานชาย อายุ 4 ขวบ ซึ่งเป็นลูกของ ผู้ตาย จากนั้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ลูกชายได้ขับรถไปรับภรรยาที่ จุดตรวจด่านห้วยน้ำอุ่น ตำบลอ่ายนาไลย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งได้มาจากต่างจังหวัด แล้วมาพักอาศัยบ้านหลังดังกล่าว อาศัยอยู่ด้วยกัน 4 คน มีแม่ ,ผู้ตาย ,ภรรยายคนตายและลูกชาย อายุ 4 ขวบ ทำให้ถูกกักตัวด้วยกันทั้งหมด โดยมีทีม อสม. ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนควบคุมในการกักตัวทั้ง 4 คน ระหว่างกักตัวมีชาวบ้าน ต่างได้เอาอาหารการกินเข้าไปให้ภายในบ้านทุกวัน เพราะทั้ง 4 คนไม่สามารถออกนอกบริเวณกักตัวได้
ขณะที่ ผู้ตายได้บ่นว่า เครียดที่ได้ถูกกักตัว เพราะออกไปไหนไม่ได้ งานก็ไม่ได้ทำ เงินก็ไม่มีใช้ จนกระทั่ง เช้าวันที่เกิดเหตุ 23 เม.ย. ผู้ตายได้ทะเลาะกับภรรยา และได้ไล่ภรรยา ออกจากบ้าน ภรรยาก็ได้ พาลูกชาย ออกจากบ้าน
ต่อมา เห็นว่า ผู้ตายได้เงียบไป จึงได้เข้าไปดู เห็นว่าผู้ตายได้นอนหงาย พัดลมได้ลมลง และเห็นว่าสายไฟได้พันกับลำตัว และพบว่าผู้ตายไม่มีลมหายใจแล้ว
ส่วนที่ สุโขทัย วันที่ 23 เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสุโขทัย และเจ้าหน้าที่กู้ภัย เข้าตรวจสอบบริเวณสวนมะปราง ริมแม่น้ำยม พบมีคนผู้คอบนกิ่งต้นไม้สูง เป็นชาย วัย 65 ปี โดยภรรยาผู้ตายเล่าว่า อยู่กินกันมา 15 ปี สามีมีโรคประจำตัวคือความดัน ลมชักและกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาชีพขายผักตามตลาดนัดแต่ก็ขายไม่ค่อยดีขายไม่ได้เงิน ตลาดนัดมาปิดอีกจากผลกระทบโควิด แต่ก็ไม่เคยบ่น คิดว่าอาจกลุ้มใจเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาทที่ได้ลงทะเบียนและได้รับการตอบรับแล้ว แต่คนตายไม่มีพร้อมเพย์ ทำให้การโอนเงินไม่สำเร็จ จึงบอกให้ผู้ตายไปโอนเงินที่ธนาคาร จากนั้นคนตายก็ออกมาจากบ้านแล้วหายไปเลย ไม่คิดว่าจะตัดสินใจมาฆ่าตัวตายอย่างนี้
ขณะที่เพจ คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 เผยแพร่ ผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต และคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ โดยระบุว่า หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสังคมไทย รัฐบาลได้เลือกใช้มาตรการอย่างเข้มงวดและรุนแรงในการควบคุมโรค จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุของไวรัสโควิด-19 มีจำนวนที่น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน โครงการวิจัยฯ มีสมมุติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นมา
จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที
จากข้อมูลที่ได้รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากไวรัสโควิด-19 คณะนักวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ดังนี้ ประการแรก รัฐบาลควรตระหนักให้มากกว่านี้ว่า การฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาล
ประการที่สอง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิด “ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน”
ประการที่สาม ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จำเป็นต้องมีการ “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ”
ประการที่สี่ รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า การดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การควบคุมโรค โดยปราศจากความรู้และความเข้าใจ ถึงชีวิตของประชาชนคนธรรมดา อาจทำให้เราได้สังคมที่หลุดพ้นไปจากไวรัสโควิด-19 หากแต่จะดาษดื่นไปด้วยซากศพของประชาชนในระหว่างทาง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจนับว่าสังคมไทยประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับการรับมือกับโรคร้ายครั้งนี้แต่อย่างใด