ไม่พบผลการค้นหา
‘ชวลิต’ ขอสภาฯ คืนทรงผมให้ตำรวจ ชี้เป็นการปฏิรูปองค์กร แฉ ผบ.ตร.บ้าอำนาจ จับ ตร. ผมยาวไปทรมาน-เชือดไก่ให้ลิงดู ที่สุดมติรัฐสภาปัดตกไม่แก้ไขเรื่องทรงผม

วันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึง มาตรา 143 และมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น และขอเวลาอภิปราย โดย พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็นในมาตรา 143 ระบุว่า เดิมทีในมาตรา 143 มีวรรคเดียวซึ่งเป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารออกระเบียบ กำหนดเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไร และโดยเงื่อนไขประการใด ซึ่งกรรมาธิการเสียงส่วนน้อยขอสงวนความเห็นขอเพิ่มวรรค 2 ‘ข้าราชการตำรวจทุกเพศ มีสิทธิเสรีภาพในการไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ โดยสุภาพและเรียบร้อย การออกกฎระเบียบหรือคำสั่งเกี่ยวกับการกำหนดทรงผมของตำรวจให้จำกัดสิทธิเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็น เพื่อความสุภาพและเรียบร้อยเท่านั้น’ 

พ.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า การเพิ่มวรรคสองนี้ไม่ได้เป็นการให้สิทธิเสรีภาพในทรงผม ว่าจะไว้ทรงผมอะไรก็ได้ แต่ยังคงให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพตำรวจได้เท่าที่จำเป็น เพื่อความสุภาพและเรียบร้อยเท่านั้น ซึ่งทรงผมที่สุภาพและเรียบร้อยสำหรับผู้ชายก็มีหลายทรง ไม่ใช่ทรงผมขาวทั้ง 3 ด้านเท่านั้น ซึ่งวรรคสองที่เพิ่มมาในมาตรา 143 จะทำให้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ ปี 2561 ที่ออกโดย จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในขณะนั้น ให้ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

พ.ต.ต.ชวลิต อธิบายเหตุผลว่า เป็นการปฏิรูปตำรวจให้ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ในทุกประเด็นทุกมิติที่เรามีโอกาสแก้ปัญหาได้ เราควรทำให้ครบทุกมิติ ทั้งเรื่องการขาดงบ ขาดกำลังคน การดำเนินการเลื่อนขั้นที่ต้องมีตั๋ว การดำเนินคดีวินัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด ตนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้แล้วกว่า 100 มาตรา การเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจเป็นยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับหน้างาน สิทธิของคนหน้างาน ผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน 

"การทวงคืนทรงผมจึงถือเป็นการปฎิรูปเช่นกัน เพราะจากเดิมที่ผู้มีอำนาจสั่งการไปจำกัดสิทธิผู้ใต้บังคับบัญชาเกินความจำเป็น สร้างความเดือดร้อน อึดอัด ทำลายคุณค่าและความมั่นใจของข้าราชการตำรวจจำนวนมากนั้น ถือว่าเป็นปัญหา" พ.ต.ต.ชวลิต กล่าว

หัวใจสำคัญของการออกแบบกฎหมาย คือ Empathy คือต้องเข้าไปนั่งในใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้ ตนน่าจะเป็นข้าราชการตำรวจคนเดียวในสภาแห่งนี้ที่ปฏิบัติหน้าที่ทันช่วงระเบียบทรงผมถูกประกาศใช้ ตนได้อยู่ภายใต้กฏระเบียบดังกล่าวเป็นปี ก่อนจะลาออกมา จึงอาจเป็นเหตุผลที่ตนมองประเด็นต่างๆ ในแต่ละมาตราว่าสำคัญทั้งสิ้น รวมไปถึงการทวงคืนทรงผมด้วย ทั้งนี้ ยังได้เห็นความขาดประสิทธิภาพขององค์กรตำรวจที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าระบบราชการใดๆ และย่ำแย่ลงเรื่อยมาหลังการรัฐประหาร

"จุดพีคที่สุดคือ คำสั่งทรงผมขาว 3 ด้านนี่แหละ ช่วงแรกข้าราชการตำรวจยังไม่ทำตาม จะไปทำตามทำไม ไร้เหตุผลสิ้นดี ก็ต้านกันมาได้ประมาณครึ่งปี ผบ.ตร.ที่บ้าอำนาจก็ไม่สามารถบังคับได้ สุดท้ายเขาใช้วิธีเชือดไก่ให้ลิงดู สุ่มเอาตำรวจที่ไม่ทำตามกลุ่มหนึ่งไปธำรงวินัย หรือเอาไปทรมานร่างกาย และส่งรูปเหยื่อที่ถูกทรมาน ตากแดดตัวดำไหม้เกรียม ไปตามกลุ่มไลน์ตำรวจ เพื่อสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ถูกบังคับอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรหดหาย กระทบประสิทธิภาพในการงานทำงาน" พ.ต.ต.ชวลิต กล่าว

พ.ต.ต.ชวลิต ระบุว่า งานตำรวจต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เท่าทันกับคนร้ายที่พัฒนาไปตลอดเวลา ไม่ใช่แต่กลัวรอรับคำสั่งจากคนหัวโบราณ วัฒนธรรมองค์กรแบบพี่สอนน้อง จะทำให้ตำรวจตามหลังโจรแบบทิ้งห่างไปตลอดกาล ขอให้ตำรวจทุกท่านอย่ามองว่านี่เป็นการกระด้างกระเดื่องท้าทายผู้มีอำนาจแต่อย่างใด เพราะถ้าเราไม่บอกหรือเรียกร้องออกไป เราจะจมอยู่กับความเดือดร้อนต่อไป คำสั่งที่ทำให้ทรงผมตำรวจแตกต่างจากประชาชน มีแต่จะสร้างความเหินห่างระหว่างตำรวจและประชาชน แทนที่จะกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกัน

อำนวย สมาชิกวุฒิสภา -7017-4E84-A7A6-0CD4BE5378BA.jpegพรเพชร -6488-468E-9E13-37BA6294AB71.jpeg

จากนั้น พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า เดิมทีตั้งใจจะไม่ชี้แจง เพราะไม่เห็นว่าเป็นคำถาม แต่มองว่าหากไม่ตอบ จะเสียหายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการบังคับในเรื่องทรงผม และหากไม่ปฏิบัติตามจะจับไปทรมาน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่มี และไม่ใช่ข้อเท็จจริง 

“เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) คุณไปบวช แล้วไม่โกนหัวได้หรือไม่" พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมโน ทิ้งท้าย

ซึ่งในเวลาต่อมาประธานสภาได้ให้ลงคะแนนเสียงโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จากจำนวนผู้ลงมติ 410 คน เห็นด้วยกับกรรมาธิการ 382 เสียง ไม่เห็นด้วย 19 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการ คือไม่แก้ไขเรื่องระเบียบทรงผม