ไม่พบผลการค้นหา
‘ประวิตร’ ชงกฤษฎีกาฯตีความดีลควบรวมทรู-ดีแทค ตามที่ กสทช.ร้องขอ ส่อขัด รธน.-ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จับตา ‘มีชัย’ หัวโต๊ะประชุม คกก.กฤษฎีกาคณะที่ 1

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหนังสือที่ สทช 2402/38842 ลงวันที่ 25 ส.ค.65 ถึง พล.อ.ประวิตร จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาสั่งการ คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. กรณีเกี่ยวกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) หรือกรณี “ควบรวมทรู-ดีแทค”

ล่าสุดมีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ทำหนังสือที่ นร 0403 (กน)/12008 ลงวันที่ 5 ก.ย.65 แจ้งกลับมายังสำนักงาน กสทช. หลังเห็นชอบตามที่สำนักงาน กสทช.เสนอ พร้อมแจ้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับทราบแล้ว

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้นัดประชุมเรื่องดังกล่าวในวันที่ 13 ก.ย.65 เวลา 10.00 น. และขอให้สำนักงาน กสทช.ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมดังกล่าวด้วย โดยมีตัวแทนเป็น ‘ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล’ รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย ‘สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน’ รองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 นั้น ‘มีชัย ฤชุพันธ์ุ’ เป็นประธาน 


ข้อสังเกตจากภาคประชาชน

สำหรับกรณีดังกล่าวก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ กสทช. เพื่อขอให้พิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทค ตามอำนาจของ กสทช.อย่างถูกต้องและเป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการ กสทช.สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้หรือไม่ ตั้งแต่ที่ที่ประชุม กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้ส่งหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจทางกฎหมายของ กสทช.เกี่ยวกับการควบรวมทรู-ดีแทค เมื่อวันที่ 25 ส.ค.65

เช่นเกียวกับข้อเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองที่ ‘ภัทร ภมรมนตรี’ รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่อเจตนาเอื้อเอกชน และมีความพยายามที่จะดึงฝ่ายบริหาร ให้เข้ามาแทรกแซง ครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาคัดค้านการดำเนินการของ กสทช. โดยมองว่า มีการใช้ช่องว่าง ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเกี่ยวกับการควบรวมทรู-ดีแทค หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มิ.ย.65 สำนักงาน กสทช.เคยทำหนังสือขอความเห็นเรื่องเดียวกันต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. และเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีได้มีมติ หรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.65 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องไม่รับการขอทุเลาชั่วคราวของ ณภัทร วินิจฉัยกุล อดีตซูเปอร์บอร์ด กสทช. กรณีขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับหรือหยุดใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.60 ไว้ก่อน โดยในคำสั่งของศาลปกครองกลางครั้งนั้น ระบุถึงเหตุผลในการยกคำร้องตอนหนึ่งว่า 

“หากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) พิจารณาเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้”