ไม่พบผลการค้นหา
ซาอุดีอาระเบียเพิ่มบทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อความเข้าข่าย 'ล้อเลียน-เสียดสี-ปลุกปั่น-ก่อกวน' กระทบความสงบ - จารีตประเพณีศาสนา แต่มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจ ก.ม.ปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐ

สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งซาอุดีอาระเบียประกาศว่าการเผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายล้อเลียน เสียดสี ปลุกปั่น ก่อกวนความสงบในสังคมและจารีตประเพณีทางศาสนา ถือว่ามีความผิดทางอาญาที่จะทำให้ถูกลงโทษจำคุกหรือปรับเงินได้ โดยบทลงโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี และปรับเงิน 3 ล้านริยัล

ยูซิฟ อัล-อาร์ฟัจ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของซาอุดีอาระเบียระบุว่า บทลงโทษดังกล่าวเป็นการปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลงโทษผู้ทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือการก่อการร้าย แต่การเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลล้อเลียน เสียดสี ปลุกปั่น และก่อกวนความสงบและจารีตประเพณีทางศาสนา หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือทำให้เกิดความแตกตื่น เป็นการปรับแก้มาตรา 2 ของ ก.ม.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีบทลงโทษในคดีหมิ่นประมาทผ่านสื่อออนไลน์อยู่แล้ว

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแสดงท่าทีคัดค้านการเพิ่มบทลงโทษดังกล่าว โดยระบุว่าที่ผ่านมา ก.ม.คอมพิวเตอร์ของซาอุดีอาระเบีย ถูกนำไปใช้ในการจับกุมและลงโทษผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาก่อน และมีการตั้งข้อหาร้ายแรงเพิ่มเติม เช่น สนับสนุนการก่อการร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

AP-ขับรถ-ผู้หญิงขับรถ-ซาอุดีอาระเบีย-กระจกมองหลัง-รถยนต์-ความปลอดภัยจราจร-ขับขี่-ผู้หญิงซาอุดี

เว็บไซต์เดอะเทเลกราฟ สื่อของอังกฤษ ยกตัวอย่างกรณีชีค ซัลมาน อัล-อะว์ดา ผู้นำศาสนาอิสลามที่มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูป รวมถึงผู้ที่สนับสนุนเขาอีกประมาณ 20 คน ถูกรัฐบาลซาอุดีอาระเบียจับกุมในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและปลุกระดม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากเขาโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายคว่ำบาตรประเทศกาตาร์ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว 

ขณะที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศว่าการคว่ำบาตรกาตาร์เป็นเพราะรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮู้ด หรือภราดรภาพมุสลิม ซึ่งซาอุดีอาระเบียถือว่าเป็นเครือข่ายก่อการร้าย การโพสต์ข้อความของชีค ซัลมาน อัล-อะว์ดา จึงเป็นการแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ และสนับสนุนเครือข่ายก่อการร้าย หลังจากนั้นก็ได้มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมรวม 37 กระทง หากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง อาจถึงขั้นถูกลงโทษประหารชีวิต

ดานา อาหมัด โฆษกขององค์กรระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงประณามการปรับแก้ ก.ม.ดังกล่าวของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย พร้อมเรียกร้องให้ทางการซาอุดีฯ ทบทวนยกเลิก ก.ม. โดยยืนยันว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบของพลเมืองเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องปกป้องและรักษาเอาไว้

ส่วนอดัม คูเกิล จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ทวีตข้อความต่อต้านการบังคับใช้ ก.ม.ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการซาอุดีอาระเบียเช่นกัน โดยเขาระบุว่า การลงโทษประหารชีวิตกับคดีของชีค ซัลมาน อัล-อะว์ดา แสดงให้เห็นว่าการกดขี่ของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนนั้นทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ อัยการซาอุดีอาระเบียยังพยายามผลักดันให้มีการลงโทษประหารชีวิตนักกิจกรรม 5 รายที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีอีกด้วย ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับคำประกาศของมกุฎราชกุมาร แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่ทรงประกาศว่าจะนำการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ซาอุดีอาระเบียมีระเบียบและการปกครองที่เข้ากับโลกเสรีในปัจจุบัน 

ที่มา: AAWSAT/ BBC/ Telegraph

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: