ไม่พบผลการค้นหา
มหากาพย์ ‘จีที200’ เครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด ที่เปรียบเป็น ‘วิญญาณ’ ที่ตามหลอกหลอน ทบ. ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา หลังผลพิสูจน์ที่กลายเป็นแค่ ‘ไม้ล้างป่าช้า’

ไม่สามารถใช้งานได้ตามสรรพคุณที่อวดอ้าง แถมหลายเป็นเรื่อง “แหกตา-ลวงไปทั้งโลก” เพราะเมื่อปี 2556 ศาลอังกฤษตัดสินจำคุก “แกรี โบลตัน” เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล 7 ปี ข้อหาจำหน่ายเครื่อง GT200 ให้หลายประเทศโดยการฉ้อโกง

ต่อมาปี 2559 ศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์ “เจมส์ แมคคอร์มิค” ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่อง GT200 ปลอม 7.9 ล้านปอนด์ หรือราว 395 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

ทุกอย่างจึงเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ ทบ. ที่สั่งซื้อมากที่สุดถึง 757 เครื่อง ทำให้เป็นเป้า “ตำบลกระสุนตก” มากกว่าหน่วยงานอื่นๆ

ผ่านมาหลายปีดูเหมือน “จีที 200” จะนิ่งเงียบ จนล่าสุดถูกนำมาพูดกลางสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2566 อีกครั้ง

โดย “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหม ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา ทบ. ทำสัญญาจ้าง 7.5 ล้านบาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท

GT200.jpg

ซึ่ง ทบ. ก็ “ปล่อยดอง” หลายวันตามสไตล์ ก่อนออกมาชี้แจง ปล่อยให้หน่วยงานอื่นๆทั้ง “กลาโหม-อัยการสูงสุด” ออกมาชี้แจงจนกลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” เหมือนเป็นการ “โยนกันไปโยนกันมา”

เพราะพูดกันคนละส่วน แต่คนนำมาผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นคำตอบของ ทบ. จึงต้องเคลียร์ที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น “คดีอาญา” และ “คดีทางปกครอง”

โดย พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสธ.ทบ. ในฐานะโฆษก ทบ. ชี้แจงผ่านเอกสารข่าว ทบ. ว่า การดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยตั้งแต่ปี 2559 ได้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาใน 2 ศาล เพื่อให้ครอบคลุมในมิติด้านกฎหมายคือ คดีอาญา ฐานฉ้อโกง และคดีทางปกครอง ฐานความผิดเกี่ยวกับสัญญา ซึ่งการดำเนินคดีของแต่ละศาลมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการตั้งแต่ปี 2560-2564

โดยคดีอาญาดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 65 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กองทัพบกเป็นจำนวน 682,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีอาญาเป็นอันสิ้นสุดลง และขณะนี้อยู่ในระหว่างการบังคับคดีให้ชดใช้เงินคืนกับกองทัพบก 

ทั้งนี้ ทบ. ได้ยื่นฟ้องในคดีทางปกครองควบคู่ โดยในคดีทางปกครองซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 กองทัพบกได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ให้ตรวจ GT200 ทุกเครื่อง เพื่อยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาคดีทางปกครอง ในการนี้เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในทางคดี กองทัพบกจึงได้ตั้งงบประมาณในปี 2564 เพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง โดยส่งตรวจที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศทอ.สวทช.) โดยเป็นการ “ตั้งงบประมาณล่วงหน้า” ในขณะนั้น ก่อนที่คดีทางปกครองจะเป็นอันถึงที่สุดในปีต่อมา

ส่วนเหตุใดที่ไม่นำคำพิพากษาคดีอาญามาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีทางปกครอง เพื่อจะได้ไม่ต้องส่งเครื่อง GT200 ไปตรวจสอบนั้น พล.อ. สันติพงศ์ ชี้แจงว่า ในขณะที่ตั้งงบประมาณเพื่อขอตรวจเครื่อง GT200 ในปี 2564 นั้น คดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจรู้ผลทางคดีได้ แต่การตรวจเครื่อง GT200 เป็นสิ่งสำคัญต่อคดีทางปกครองในขณะนั้น พร้อมย้ำว่า การตั้งงบประมาณในการตรวจสอบเครื่อง GT200 จำนวน 7.57 ล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบคดี

ต่อมาสื่อมวลชนได้พบกับ พล.อ.สันติพงศ์ โดยตรงจึงได้สอบถามเพิ่มเติมจากกรณี “ประยุทธ เพชรคุณ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ความเห็นของอัยการสูงสุดให้จ้างตรวจ GT200 ทั้งหมด 757 เครื่อง เพื่อที่จะทราบว่าเป็นของที่ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาจริง ซึ่งอัยการสูงสุดเห็นว่าควรตรวจเพื่อเป็นประเด็นชี้ขาดทางคดี พร้อมย้ำว่าคดีได้จบแล้ว หลังศาลปกครองกลางสั่งบริษัทเอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับ ทบ. 683 บาท และสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลคดี ให้กองทัพบกทราบ ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2564 จึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจอีก 

โดยโฆษก ทบ. ชี้แจงว่า “ขณะนี้สิ้นสุดแล้ว ไม่ต้องผ่าพิสูจน์” โดยมีรายงานว่า พล.ท.นพดล ศรีจันทร์สุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ทำหนังสือถึง สวทช. ให้ยุติการตรวจพิสูจน์เครื่องจีที 200

พล.อ.สันติพงษ์ กล่าวยืนยันอีกว่า “งบประมาณปี2566 ไม่ได้ตั้งไว้ ในส่วนงบประมาณปี2565 ก็ไม่ต้องใช้ เราก็ต้องคืน ประมาณ 4.37 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาปี 2564 เรามีการผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง วงเงิน 3.2 ล้านบาท” 

อย่างไรก็ตาม ทบ. ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอหนังสือที่เป็น “ลายลักษณ์อักษร” กรณีที่ไม่ต้อง “ผ่าพิสูจน์” เครื่อง GT 200 เพื่อใช้เป็น “หลักฐาน” ยืนยันในอนาคต หากมีการขุดเรื่อง GT200 ขึ้นมากอีกครั้ง อีกทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ยังไม่ถอนอุทธรณ์

ย้อนอดีตเมื่อปี 2548 เกิดการจัดซื้อเครื่อง GT200 ขึ้นครั้งแรก โดยกองทัพอากาศ จากนั้นมีหน่วยงานรัฐของไทยรวม 16 แห่งจัดซื้อ GT200 และ ALPHA 6 เช่น กองทัพบก โดยกรมสรรพาวุธทหารบก , กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กรมราชองครักษ์ กองทัพเรือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมการปกครอง กรมศุลกากร ตำรวจภูธร จ.ชัยนาท ตำรวจภูธร จ.พิษณุโลก ฯลฯ รวม 1,398 เครื่อง มูลค่าทั้งหมด 1,178 ล้านบาท

โดยเฉพาะ ทบ .ที่จัดหามากที่สุด ช่วงปี 2550-2552 เป็นช่วงที่ ทบ. จัดหาเครื่อง GT 200 จำนวน 757 เครื่อง แบ่งเป็นสมัย “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. จัดซื้อ 755 เครื่อง ส่วนที่เหลืออีก 2 เครื่อง จัดซื้อสมัย “บิ๊กบัง”พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. 

ประยุทธ์ อนุพงษ์ ทหาร กองทัพบก รัฐประหาร กองทัพ 4085036.jpg

ทว่าในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ได้เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเกิดคำถามเรื่องประสิทธิภาพเครื่อง GT 200 ขึ้นมา โดยในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเครื่อง GT200 และ ALPHA 6 โดยผลกระทบสอบผลทดสอบ 10 ครั้ง ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยได้ไม่ถึงครึ่ง ทำให้ ทบ. สั่งเก็บอุปกรณ์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามบทสรุปของเครื่อง GT 200 ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีเรื่องคดีความอยู่

โดยสำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวเมื่อ 19 ก.ค. 2564 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT 200 และ Alpha 6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย โดยถูกชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างของหน่วยงานนั้นๆ โดยเฉพาะในส่วนของ ทบ. เป็นของกรมสรรพาวุธ ทบ. รวม 12 สัญญา ผู้ถูกชี้มูลคือนายทหารระดับ “พลโท” 2 นาย และที่เหลือเป็นคณะกรรมการตรวจรับ

ล่าสุดเมื่อ 22 พ.ค. 2565 สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวว่า ยังเหลือพิจารณาคดีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ ALPHA 6 อยู่อีก 5 สำนวนสุดท้าย ที่ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง และที่ประชุมได้เลื่อนการพิจารณาออกไปหมดทุกสำนวน โดยให้เจ้าของเรื่องกลับไปดูแนวทางการลงโทษของคดีเดิมประกอบ

ไม่ใช่แค่ GT200 ที่ตกเป็นเป้าครั้งนี้

แต่ยังมีโครงการจัดหา “เรือดำน้ำ” ลำแรกของ ทร. ที่ยังติดหล่มดำไม่โผล่ จากกรณีเครื่องยนต์ที่จะนำมาติดตั้งเรือดำน้ำ หลังทางเยอรมนีไม่ขายเครื่อง MTU 396 ให้จีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำให้ไทย

ล่าสุดได้มีการเจรจาระหว่าง ทร. กับบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจของจีน หลังเลื่อนมา 2 ครั้งติด ด้วยสถานการณ์โควิดในจีน ทำให้คณะของจีนเดินทางมาประเทศไทยไม่ได้ โดยเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสธ.ทร. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นประธานฝ่ายไทย และ Mr.Liu Song รองประธานบริษัท CSOC เป็นประธานฝ่ายจีน และมีรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ร่วมในการประชุมเพื่อหาทางออกปัญหาดังกล่าว แต่ยัง “ไร้ข้อสรุป”

โดยบริษัท CSOC แจ้งว่าได้ใช้ความพยายามในการเจรจากับบริษัท MTU เยอรมนี ทั้งในระดับ บริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล และช่องทางทางการทูต ในการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงได้ ทางบริษัท CSOC ได้เสนอเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น CHD 620 ให้ ทร. พิจารณาทดแทนรุ่น MTU 396 แต่ฝั่ง ทร.ไทย ยังคงยืนกรานเครื่องยนต์ MTU 396 ตามข้อตกลง เนื่องจากเครื่องยนต์ CHD620 ที่ บริษัท CSOC เสนอ ไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดมาก่อน

เรือดำน้ำ-ซื้ออาวุธ-กองทัพไทยเรือดำน้ำ_๒๐๐๘๒๔_2.jpg

นอกจากนี้ ทร. ได้ย้ำถึงสเปกเครื่องยนต์ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อตกลง ให้ทางบริษัท CSOC รับทราบ 4 ข้อ

1. ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการใช้งานจริงในเรือดำน้ำ

2. มีความปลอดภัยในการใช้งานจริง

3. มีการรับประกัน การบริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุง

4. ตอบสนองด้านความต้องการใช้งานทางยุทธการของกองทัพเรือ

พร้อมขอให้ทางบริษัท CSOC จัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้ กองทัพเรือ พิจารณา ภายใน 60 วัน หรือภายใน 9 ส.ค. 2565

ทำให้โครงการเรือดำน้ำ “ส่อเลื่อน” ระยะเวลาส่งมอบให้ไทยออกไปอีก หลังเลื่อนมาแล้ว 1 ครั้ง จากเดิมปลายปี 2566 ไปเป็น พ.ค. 2567 จากสถานการณ์โควิดในเมืองอู่ฮั่น ที่เป็นเมืองต่อเรือดำน้ำ ซึ่งในขณะนี้การต่อเรือดำน้ำคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 50

ประยุทธ์ ประชุมสภา งบประมาณ  ประวิตร วิษณุ -AA6E-490E-9DE0-7E559DFB494F.jpeg

ทั้งหมดนี้เป็น “กระสุนใหญ่” ที่จะพุ่งไปยัง “3ป.บูรพาพยัคฆ์” ที่เตรียมขึ้นเขียงถูก “ฝ่ายค้าน” อภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย พล.อ.อนุพงษ์ มีเรื่อง “ไม้ล้างป่าช้า GT200” ที่ยังตามหลอกหลอนอยู่

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็หนีไม่พ้นเรื่อง “เรือดำน้ำ” ที่ถูกจัดหาในยุค คสช. ที่เกิดปัญหาติดขัดในเวลานี้

และถือเป็น “ศึกซักฟอก” ส่งท้าย รบ.ประยุทธ์ ก่อนจะครบวาระ-ของรัฐบาล 4 ปี ต้นปี2566 แน่นอนว่าหมัดของฝ่ายค้าน ก็สามารถชนะน็อกในครั้งนี้ได้

หากรัฐบาลไม่ล้มก็มี “เมาหมัด” แน่นอน และส่งผลต่อความนิยมของรัฐบาล หลังเจอทั้งกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” ปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ ของฝ่ายค้านภาคแรก ในพื้นที่ กทม. หากมาเจอศึกซักฟอกอีก งานนี้ 3ป. นั่งไม่ติดแน่นอน