ล่าสุดระหว่างต่อเรือกลายเป็นว่าเกิดปัญหาทาง “เทคนิค” หลังทางเยอรมันไม่ขายเครื่องยนต์ให้ทางจีนในการใช้ติดตั้งเรือดำน้ำ Yuan Class S26T ที่ไทยจัดหาจากจีน ตามที่ลงนามสัญญารูปแบบ “รัฐต่อรัฐ” กว่า 13,500 ล้านบาท ระหว่าง กองทัพเรือไทย กับ บริษัท CHINA SHIPBUILDING & OFFSHORE INTERNATIONAL CO., LTD. หรือ CSOC ที่ในสัญญาระบุชัดเจนว่า ต้องเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น MTU396 รวม 3 เครื่อง จากเยอรมันเท่านั้น
หลังทางเยอรมนีมีนโยบายการระงับการส่งออก หรือ Embargo Policy โดยเครื่องยนต์ดีเซลของเรือดำน้ำจัดอยู่ในรายการควบคุมการส่งออกดังกล่าวด้วย จึงต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมันก่อน และอีกกระแสก็มีการมองว่าทางเยอรมันไม่ขายให้จีน เพราะจีนนำมาใช่ต่อเรือดำน้ำขายให้ชาติที่สาม ไม่ได้ต่อเรือดำน้ำเพื่อใช้เอง ซึ่งขัดกับข้อกฎหมายของทางเยอรมนี
ล่าสุดเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทาง ทร.ไทย ได้ทำหนังสือถึงบริษัท CSOC และทางการจีน เพื่อให้ส่งตัวแทนมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน โดยคาดว่าจะได้คำตอบภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งทางออกมาอยู่หลายทาง เช่น การแก้สัญญาใหม่ เพื่อใส่เครื่องยนต์จากบริษัทอื่นแทน ในส่วนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ก็พูดทำนองว่าถ้าไม่ได้ก็ต้องแก้สัญญาใหม่ แต้ต้องดูข้อกฎหมายให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเข่าข่ายผิดกฎหมายได้
“ให้นโยบายไปแล้วว่าให้ดำเนินการให้สำเร็จ เพราะอยู่ในสัญญาอยู่แล้ว แต่หากไม่ได้ก็คือไม่ได้ ต้องทำใหม่ ต้องเป็นอย่างนั้นละมั้ง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“กองทัพเรือชี้แจงหลายรอบแล้ว ผมก็ดูและฟังอยู่ในการชี้แจง ถ้ามันไม่ได้จะเอามาทำไม มันไม่มีเครื่อง แล้วไปพูดว่ารัฐบาลจะซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องจะซื้อมาทำไม ในเมื่อสัญญาเซ็นไว้แล้วทำไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการจะทำอย่างไรต่อไป ทุกอย่างมันต้องแก้อย่างนี้ไม่ใช่หรือ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็กล่าวอย่างมั่นใจว่า “มีเครื่องยนต์” ส่วนจะได้เครื่อง MTU396 ของเยอรมันหรือไม่
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เดี๋ยวก็ได้หมด” ด้วยโครงการเรือดำน้ำกำเนิดในยุค คสช. ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม ในขณะนั้น ด้วยสายสัมพันธ์ที่แนบชิดจีนในยุคนั้น
ทำให้ฝ่ายค้านนำโดย “โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาแฉโครงการเรือดำน้ำอยู่ประจำเรียก พล.อ.ประวิตร ว่า “บิดาแห่งเรือดำน้ำ”
ทั้งนี้กระบวนการพูดคุยมีอยู่หลายข้อเสนอที่ทาง ทร.ไทย กับทางจีน จะนำขึ้นมาพูดคุยกัน ทั้งเรื่องการแก้สัญญาที่ลงนามร่วมกัน ฝ่ายใดจะรับผิดชอบเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาท่าทีฝ่ายไทยก็โยนให้เป็นปัญหาที่เกิดจากทางจีน แต่ที่ผ่านมาทางจีนก็อะลุ่มอล่วยฝ่ายไทยในการ “เลื่อน-ชะลอ” โครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2-3 มาแล้ว 4 ปีงบประมาณ หลังไทยติดปัญหาเรื่องบประมาณต่างๆ ทั้งต้องโยกงบมาแก้สถานการณ์โควิดปี 2563 ถูกตีตกโดยสภาฯ ในชั้นกรรมาธิการปี 2564-2565
และครั้งสุดท้ายที่ ทร. ถอยเองไม่เสนอโครงการ ในแผนงบประมาณปี 2566 เพราะไม่ต้องการให้งบถูก “ตีตก” ไปเปล่าๆ เฉกเช่นงบประมาณปี 2564 - 2565 ทำให้ทางไทยและจีนต้องหาทางออกในเรื่องนี้ โดยไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
นอกจากนี้มีข้อเสนอต่างๆที่เป็นกระแสข่าว ยังไม่เป็นข้อเสนออย่างเป็นทางการ ในลักษณะ “ดีลใหม่” เพราะทาง ทร.ไทย ได้จ่ายค่าเรือดำน้ำลำแรกไปแล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท ที่ต้องไม่สูญเปล่า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่อง “ค่าโง่” ไป
ดังนั้นจึงมีการเสนอว่าหากเปลี่ยนไปใส่เครื่องจากบริษัทอื่นได้หรือไม่ โดยเป็นบริษัทที่ผลิตในจีน แต่ได้รับลายเส้นและรับประกันเครื่องจากเยอรมนีแทน แต่งานนี้จะมีสิ่งใด “รับประกัน” ประสิทธิภาพของเครื่องชนิดนั้น การฝึกกำลังพลที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป และความเชื่อมั่นของกำลังพลที่ต้องประจำเรือด้วย พร้อมกับแถมเรือดำน้ำจีนมือ 2 ให้ไทย
ข้อเสนอเหล่านี้ย่อมถูกนำไปพูดคุยระหว่าง ทร.ไทย กับ ทางการจีน เพื่อให้ทันกำหนดการส่งมอบเรือดำน้ำให้ไทย พ.ค. 2567 หลังเลื่อนจาก ก.ย. 2566 ด้วยสถานการณ์โควิดระบาดที่อู่ฮั่น เมืองที่ต่อเรือดำน้ำให้ไทย
อย่างไรก็ตามในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ภายหลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งเป้าเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” รัฐบาล ที่สำคัญครั้งนี้ เป็นแบบลงมติไม่ไว้วางใจด้วย แน่นอนว่าเรื่อง “เรือดำน้ำ” ยังคงเป็นเป้านิ่งให้พรรคฝ่ายค้านทิ้งบอมบ์ทั้งเรือดำน้ำและรัฐบาลทุกครั้ง หากสุดท้ายไม่ได้เครื่อง MTU396 จากเยอรมนี และไม่ว่าจะได้ข้อเสนอใดออกมา ย่อมฝืนความรู้สึกสังคมที่จะมองโครงการ “เรือดำน้ำ” ติดลบตั้งแต่ต้น
สุดท้ายแล้วหากไม่ได้ข้อสรุป ก็จะ “ยิ่งทอดเวลา” ออกไป ย่อมมีแต่ความเสียหายมากขึ้นเท่านั้นด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง