ไม่พบผลการค้นหา
การทำประชามติใน 4 พื้นที่ดินแดนยูเครนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซียเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยทางการรัสเซียอ้างว่า ผลการทำประชามติได้รับมติท่วมท้นจากประชาชน ที่ต้องการจะได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การผนวกดินแดนเหล่านี้เข้าเป็นของรัสเซีย

ผลการทำประชามติทั้งในโดเนตสก์ ลูฮานสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย มีมติต้องการเข้าร่วมกับรัสเซีย อย่างไรก็ดี การทำประชามติดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมนานาชาติ ในขณะที่รัฐบาลยูเครน ซึ่งเป็นเจ้าของดินแดน และพันธมิตรตะวันตก ออกมาประณามว่าการทำประชามติในครั้งนี้เป็นประชามติ “หลอกลวง”

ผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียที่หนีออกนอกพื้นที่ดังกล่าว ยังสามารถลงคะแนนประชามติได้จากหน่วยเลือกตั้งนอกดินแดนทั้ง 4 แห่ง รวมถึงพื้นที่ไครเมีย ที่ถูกรัสเซียจัดทำประชามติ และควบรวมดินแดนของยูเครนดังกล่าวไปเมื่อปี 2557 โดยมติส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับรัสเซีย ทั้งนี้ พื้นที่ทั้งหมดคิดเป็น 15% ของดินแดนทั้งหมดของยูเครน

สำนักข่าวฝ่ายสนับสนุนรัสเซียในโดเนตสก์และลูฮานสก์รายงานว่า ผู้คนมากถึง 99.23% ออกมาโหวตเห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับรัสเซีย นับเป็นอัตราส่วนที่สูง ซึ่งถือว่าผิดปกติไปจากการลงคะแนนในลักษณะเดียวกันนี้ อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์กันว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย อาจประกาศผนวก 4 ภูมิภาคดังกล่าว ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อการประชุมร่วมของรัฐสภารัสเซียในวันศุกร์นี้ (30 ก.ย.) ในลักษณะเดียวกันกับที่ปูตินเคยทำกับไครเมียเมื่อ มี.ค. 2557

หากรัสเซียประกาศผนวกดินแดนทั้ง 4 เข้าเป็นของตนเอง แม้ว่ารัสเซียจะยังควบคุมพื้นที่ทั้งหมดไม่ได้เต็มที่ก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์ของสงครามระดับใหม่ และจะส่งผลให้เกิดความอันตรายในทางสถานการณ์มากขึ้นไปกว่าเดิม โดยรัสเซียอาจกล่าวอ้างว่า ความพยายามในการยึดดินแดนคืนใดๆ ของยูเครนในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของรัสเซีย

โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนกล่าวหารัสเซียว่า “ละเมิดกฎหมายของสหประชาชาติอย่างโหดร้าย” ผ่านความพยายามในการผนวกดินแดนที่ถูกยึดครองโดยกำลังที่เป็น “เรื่องตลกในดินแดนที่ถูกยึดครองนี้ ไม่สามารถเรียกได้แม้แต่กระทั่งว่าเป็นการเลียนแบบการลงประชามติ” เซเลนสกีกล่าวเมื่อคืนวันอังคาร (27 ก.ย.) พร้อมกล่าวเสริมว่า มัน “เป็นความพยายามที่เหยียดหยามอย่างยิ่ง ที่จะบังคับผู้ชายในดินแดนที่ถูกยึดครองของยูเครน ให้ระดมกำลังเข้าสู่กองทัพรัสเซีย เพื่อส่งพวกเขาไปต่อสู้กับบ้านเกิดของพวกเขาเอง”

ในทางตรงกันข้าม ปูตินได้แถลงปกป้องการทำประชามติในครั้งนี้ว่า ประชามติได้ออกแบบมาเพื่อการหยุดการข่มเหงจากยูเครนต่อชาวรัสเซีย และผู้พูดภาษารัสเซีย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลยูเครนออกมาระบุว่าไม่เป็นความจริง “การช่วยชีวิตผู้คนในทุกพื้นที่ที่มีการลงประชามตินี้ เป็นหัวใจหลักของเรา และเป็นจุดสนใจของสังคมและประเทศทั้งหมดของเรา” ปูตินกล่าว 

อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต่างออกมาประณามการทำประชามติในครั้งนี้ ในขณะที่จีนยังคงสงวนท่าทีในการออกความเห็น เพียงแต่ระบุว่า “ตอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศควรได้รับความเคารพ”


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-63052207?fbclid=IwAR2YdgloaNmPRmWDK6Ug9Z4g5WrRh9avvVdbg_XQUWNJCamgHHJJ8pRiIeg