การระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มาจนถึงวิกฤตสงครามในยูเครน ล้วนแล้วแต่กระทบวิกฤตทางด้านอาหารของโลก ส่งผลให้ประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางการส่งออกวัตถุดิบในการประกอบอาหารจะได้เปรียบในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์โลกเต็มไปด้วยภัยคุกคามต่อวิกฤตการณ์ทางด้านอาหาร
ในสายตาของประชาชน ยังคงมีคำถามว่า รัฐบาลไทยในปัจจุบันส่งเสริมการเป็นครัวโลกของไทยไปมากน้อยเพียงใด ตลอดระยะเวลาของการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ไทยกลับไม่ได้มีสินค้าด้านอาหารที่ถูกส่งออกไปในฐานะวัตถุดิบราคาสูง สำหรับการประกอบอาหารชั้นหรูบนภัตตาคาร ในขณะเดียวกัน เรายังคงหวังพึ่งอยู่กับแค่การส่งออกข้าวและผลไม้ที่มีตลาดอื่นสามารถทดแทนได้ และไทยยังคงไม่มีสินค้าด้านอาหารที่สร้างคุณค่าในตัวของมันเอง วอยซ์ชวนคุณสำรวจวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งผู้ผลิตโลกที่สาม สู่จานอาหารชั้นหรูระดับโลกเพื่อย้อนกลับมาทบทวนไทยท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางอาหารกันใหม่
หากพูดถึงจานอาหารหรูบนภัตตาคารดังแถบยุโรป สิ่งแรกๆ ที่เด้งขึ้นมาในหัวของใครหลายคนอาจเป็นไข่ปลาคาเวียร์ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ไข่ปลาคาเวียร์กว่า 10% ของโลกที่ถูกบริโภค ถูกผลิตขึ้นในอิหร่าน ประเทศที่หลายคนมองว่ายังคงห่างไกลจากการพัฒนา ท่ามกลางความเคร่งครัดทางศาสนาและความขัดแย้งที่อิหร่านมีกับโลกตะวันตก
ไข่ปลาคาเวียร์ถูกเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารของชนชั้นสูงมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาอย่างยิ่งเมื่อราวคริสตศตวรรษที่ 10 ตั้งแต่อาณาจักรไบแซนไทน์ไปจนถึงเคียฟวาน รุส ทั้งนี้ ปลาต้นกำเนิดไข่ปลาคาเวียร์คือปลาสเตอร์เจียนขาว ที่มีอยู่จำนวนมากบริเวณทะเลแคสเปียน ติดกันกับพรมแดนของอิหร่าน คาซัคสถาน รัสเซีย เติร์กเมนิสถาน และอาเซอร์ไบจาน
ไข่ปลาคาเวียร์ที่มีราคาแพงจากอิหร่านอย่าง ‘อัลมาส’ ที่แปลว่าเพชร อาจมีมูลค่าต่อกิโลกรัมสูงถึง 34,500 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.18 ล้านบาท) ซึ่งถูกผลิตขึ้นจากปลาสเตอร์เจียนขาวเผือกหายาก ที่มีอายุระหว่าง 60 ถึง 100 ปี ทั้งนี้ ทางการอิหร่านระบุว่า ตนเป็นผู้ส่งออกไข่ปลาคาเวียร์จากปลาสเตอร์เจียนขาวเจ้าใหญ๋ที่สุดในโลก
เมื่อช่วงก่อน มี.ค. 2565 อิหร่านส่งออกไข่ปลาคาเวียร์ไปยัง 33 ประเทศทั่วโลกด้วยปริมาณน้ำหนักกว่า 5.77 ตัน คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 65% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ไข่ปลาคาเวียร์ระดับราคาปกติอาจมีอยู่ที่ราว 1,000-3,200 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 34,000-100,000 บาท) ต่อกิโลกรัม แต่ราคาของมันจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 3,200-4,300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 100,000-147,000 บาท) เมื่อถึงมือผู้บริโภค
คนมักเข้าใจว่าแมคคาเดเมียเป็นถั่ว แต่มันคือพืชชนิดหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลถั่ว แมคคาเดเมียมีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียมาจนถึงอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี เวียดนามมีความพยายามที่จะขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกแมคคาเดเมียเจ้ายักษ์ โดยมีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 เวียดนามจะสามารถส่งออกแมคคาเดเมียได้กว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท) และ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท) ที่ปี 2593
รัฐบาลเวียดนามประกาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกแมคคาเดเมียเป็นประเทศชั้นนำระดับโลก โดยในปี 2573 เวียดนามจะต้องส่งออกแมคคาเดเมีย 130,000 ตัน และเพิ่มขึ้นไปเป็น 500,000 ตันในปี 2593
รัฐบาลเวียดนามเล็งที่จะใช้พื้นที่ 812,500-937,500 ไร่ ในการปลูกแมคคาเดเมียบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือและตอนกลางของพื้นที่ราบสูงในประเทศภายในปี 2573 และจะเพิ่มพื้นที่เป็น 1,562,500 ไร่ภายในปี 2593 เพื่อเป็นฐานการผลิตแมคคาเดเมียส่งออกจากเวียดนามไปทั่วทั้งโลก ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวจะสามารถผลิตแมคคาเดเมียได้ประมาณ 600,000 ตันแบบยังไม่กะเทาะเปลือก
เวียดนามจะต้องเจอกับคู่แข่งทางการค้าแมคคาเดเมียอย่างพื้นที่ในแถบอเมริกาใต้ ที่ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกแมคคาเดเมียอันดับต้นๆ ของโลก นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2550 ถึงแม้ว่าแมคคาเดเมียจะเป็นพื้นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเอเชียแปซิฟิกก็ตาม
ขนมหลายอย่างเลือกใช้กลิ่นของวานิลลาเป็นตัวชูรสชาติ อย่างไรก็ดี ร้านขนมหลายร้านเลือกใช้กลิ่นสังเคราะห์ของวานิลลา แทนการใช้ฝักวานิลลาจริง เนื่องจากราคาของมันที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี มาดากัสการ์เป็นหนึ่งพื้นที่ของโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตวานิลลาส่งออกไปยังทั่วทุกมุมโลก
วานิลลามีแหล่งกำเนิดห่างออกไปจากมาดากัสการ์ในทวีปแอฟริกากว่ามาก เพราะมันมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่บริเวณทวีปอเมริกาใต้ และมีการบันทึกถึงการใช้มันมาตั้งแต่ยุคแอซเท็ก อย่างไรก็ดี ในปี 2562 วานิลลากว่า 80% ของทั่วทั้งโลกถูกผลิตขึ้นในกลุ่มเกษตรกรเล็กๆ ของมาดากัสการ์ ท่ามกลางความต้องการวานิลลาที่ยังคงมีมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ
เคยมีความกังวลในช่วงปี 2560-2561 ว่า วานิลลาอาจหมดไปจากโลก หรืออย่างน้อยๆ ก็ขาดตลาดไปอีกนาน หลังจากที่มาดากัสการ์ประสบภาวะแห้งแล้ง ไปจนถึงพายุไซโคลน อย่างไรก็ดี วานิลลายังคงเป็นพืชที่ทำเงินให้แก่มาดากัสการ์ได้มหาศาล ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา วานิลลาอบแห้งจากมาดากัสการ์สามารถขายได้ในราคา 600 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 20,500 บาท) ต่อกิโลกรัม
ประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเพาะปลูกสินค้าทางการเกษตร อย่างไรก็ดี ไทยยังขาดการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขับเน้นสินค้าการเกษตรของตนเอง ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วทุกมุมโลก การพัฒนาเห็ดธรรมดาๆ ในป่าของไทย อาจทำให้เห็ดนั้นกลายเป็นวัตถุดิบหลักที่ภัตตาคารหรูของโลกขาดไม่ได้ ไทยอาจจะต้องรอรอคอยวิสัยทัศน์ด้านอาหารของผู้นำต่อไป
ที่มา:
https://asianews.network/vietnam-aims-to-be-leading-macadamia-exporter-in-the-world/