วันที่ 23 พ.ย. 66 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ขอให้ช่วยเหลือกรณีผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และกรณีไม่ให้สิทธิในการพักโทษแก่นักโทษเด็ดขาดในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ฯ เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมการแสดงออกในการชุมนุมอย่างมีเสรีภาพ และการชุมนุมโดยสงบ
แต่จากข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) ในโครงการ MOB DATA พบว่า ช่วงปี 2563 - 2566 เกิดการชุมนุมในประเทศไทย กว่า 3,800 ครั้ง ในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดี อย่างน้อย 1,930 คน ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดี จำนวน 286 คน
โดยคดีที่เกิดขึ้นถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลยุติธรรม และเป็นเหตุให้มีผู้ต้องหาคดีการเมืองไม่ได้รับการประกันตัว หรือปล่อยชั่วคราว (คดีการเมืองช่วงปี 2563 ถึงปี 2566) จนต้องเข้าสู่เรือนจำ มากถึง 145 คน ( ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2566) และมีผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อย่างน้อย 24 คน ในจำนวนนี้ 15 คน เป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อีกทั้งยังมีผู้ถูกคุมขังเนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 11 คน รวมถึงกรณีของ ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ นักโทษเด็ดขาดที่ถูกตัดสินให้จำคุกด้วยความผิดตามมาตราดังกล่าวกว่า 43 ปี 6 เดือน และยังอยู่ในขั้นตอนที่ยังไม่ได้รับการพักโทษ เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการใช้หรือพกพาอาวุธ หรือการใช้ความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม อย่างน้อย 173 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน จำนวน 65 คน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว และยังมีผู้ต้องหา อย่างน้อย 7 คน ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ ทั้ง 2 คณะ ดังนี้
1.พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาขอบเขตและข้อจำกัดทางกฎหมาย เกี่ยวกับการรับรองสิทธิในการปล่อยชั่วคราว โดยศึกษาสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายและแนวปฏิบัติภายในประเทศและความสอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคำสั่งของศาลในคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ช่วงระหว่างปี 2563-2565
2.สำรวจและทบทวนสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมาย ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รวมถึงความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และจัดทำชุดข้อเสนอแนะเพื่อให้มีผลในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและกฎหมายที่สอดรับกับหลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
3. สำรวจและศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางการพิจารณาการให้พักโทษแก่นักโทษทางการเมืองให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันเเละวางอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงผู้ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และจัดทำชุดข้อเสนอแนะเพื่อให้มีผลในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและกฎหมายที่สอดรับกับหลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
ปิยนุช ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ย้ำว่า ตามกฎหมายผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ตามหลักการใยกฎหมายทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว ที่สำคัญคดีที่ยังไม่พิพากษาถึงที่สุดตามหลักการแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาต้องไม่ถูกทำให้เหมือนว่าเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้ว ทั้งที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศ นั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนที่ใช้สิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ไม่ให้ถูกจับกุมตัว ควบคุมตัวโดยพลการ และต้องทำและพิสูจน์ให้เห็นว่าได้ทำให้ทุกคนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นธรรมจริงๆ หนึ่งในนั้นคือการให้สิทธิประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว
"สิทธิในการประกันตัวไม่เพียงแค่เป็นข้อบังคับทางกฎหมายเท่านั้น มันเป็นฐานรากที่สำคัญของความยุติธรรม ที่สร้างความเท่าเทียมและเคารพอย่างสูงต่อทุกคน การยอมรับและปฏิบัติตามสิทธิในการประกันตัวช่วยปกป้องตัวบุคคล ประชาชนและการยืนยันหลักการสันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิด รวมถึงการยึดถือหลักการพื้นฐานของความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน” ปิยนุช กล่าว