สิ่งที่โดดเด่นในพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยสำนักพระราชวังบักกิงแฮม หนีไม่พ้นกล่องหนังเอกสารสีแดงประจำพระองค์ ที่ใช้บรรจุเอกสารของรัฐบาลเพื่อถวายรายงานประจำวัน แด่องค์พระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักร โดยในเอกสารมีการลงพระปรมาภิไธย “Charles R” โดย R ย่อมาจาก Rex ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า พระมหากษัตริย์
พระบรมฉายาลักษณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่อง ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน มาถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์คู่ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชมารดา และพระราชบิดา ซึ่งทั้งสองพระองค์เคยทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมฉายาลักษณ์คู่ดังกล่าว แด่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เมื่อปี 2494
พระบรมฉายาลักษณ์ในลักษะในดังกล่าวของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถูกมองว่าเป็นการส่งข้อความ เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ แทนการมีพระราชดำรัสโดยตรงออกมา เพื่อสะท้อนว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงงานจริง โดยมีงานอยู่เบื้องหน้าพระองค์อย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน มุมของพระบรมฉายาลักษณ์ยังถ่ายให้เห็นที่รองปากการูปเทวดา ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงใช้ลงพระปรมาภิไธย
อย่างไรก็ดี พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว ที่ถูกถ่ายโดย วิคตอเรีย โจนส์ ของทาง PA Images ได้มีมุมที่เปลี่ยนแปลงไปจากโบราณราชประเพธีเดิม เนื่องจากแต่เดิมแล้ว พระมหากษัตริย์มักจะทรงประทับในท่าทางการ และสบพระเนตรมายังกล้อง แต่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกมุมพระบรมฉายาลักษณ์ที่กำลังทรงใช้สมาธิและท่าเคลื่อนไหวตามปกติขณะการทรงงาน อีกทั้งยังไม่สบพระเนตรมายังกล้อง และใช้แสงในพระบรมฉายาลักษณ์ธรรมชาติ แทนการใช้แสงสตูดิโอ
มีการวิเคราะห์ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงปรับเปลี่ยนพระราชวงศ์อังกฤษ ไปในรูปแบบที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมมากขึ้นกว่ารัชสมัยของพระมารดา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้าอยู่แต่เดิมแล้ว นอกจากนี้ รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงมุ่งเน้นไปที่การย่อขนาดพระราชวงศ์ที่ทรงงานให้เล็กลง โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นไปเพื่อการลดภาระค่าใช้จ่ายทางงบประมาณด้านพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักร
ห้องที่ใช้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์นี้ คือ “ห้องศตวรรษที่ 18” พร้อมกับการจัดแสงตบกระทบบนพระวรกายของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แบบกึ่งแสงกึ่งเงา อีกทั้งการแขวนภาพวาดที่ถูกถ่ายติดมาด้านหลัง ซึ่งถูกวาดขึ้นอย่างละเอียดละออ ตัดกันกับสีแดงและทองในห้อง โดยภาพวาดสีน้ำมันดังกล่าว ถูกวาดขึ้นโดย ฟรานเชสโก ซูกกาเรลลี ศิลปินยุคศตวรรษที่ 18
พระบรมฉายาลักษณ์ถูกฉายขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสวมเนกไทสีดำไว้ทุกข์ เพื่อสะท้อนภาพว่าในขณะที่ยังทรงไว้ทุกข์จากการสวรรคตของพระราชมารดา แต่ก็ยังคงทรงงานในฐานะประมุขแห่งรัฐพระองค์ใหม่สืบเนื่องต่อไป ตามภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของพระองค์ในช่วงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างไรก็ดี พระบรมฉายาลักษณ์การลงพระปรมาภิไธย และทรงเปิดกล่องหนังสีแดงอ่านรายงานของรัฐบาล จะเป็นกิจวัตรในทุกวันที่พระองค์จะทรงกระทำในทุกวันนับแต่นี้เป็นต้นไป
ที่มา: