ไม่พบผลการค้นหา
การขุดคอคอดกระเป็นทางลัดในการเดินทะเล เกือบจะกลายเป็นตำนานที่ไม่มีวันเป็นจริงได้สำหรับเมืองไทย แต่ล่าสุดมีการประเมินกันว่าคลองกระอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็ค เส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเลของจีน

The Diplomat เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศระดับโลก เผยแพร่บทความที่กล่าวถึงประเด็นการขุดคอคอดกระ หรือ "คลองกระ" ซึ่งเดิมเคยมีความพยายามมาอย่างยาวนานที่จะขุดคลองลัดระหว่างทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย เพื่อร่นระยะเวลาการเดินเรืออย่างมหาศาล แต่กลับไม่เคยมีใครทำสำเร็จ ตั้งแต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย เจ้าอาณานิคมอังกฤษ มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน แต่ล่าสุด มีแนวโน้มสูงว่าโครงการนี้จะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็คแห่งศตวรรษของจีน นั่นก็คือเส้นทางสายไหมใหม่


รู้จักเส้นทางสายไหม

ตามที่จีนวางแผนไว้ เส้นทางสายไหมจะแบ่งเป็น 2 สาย คือทางบก เป็นเส้นทางถนนและรถไฟจากภาคตะวันตกของจีน ตัดผ่านไปยังเอเชียกลาง สู่ยุโรป และเส้นทางสายไหมทางทะเล จากภาคตะวันออกของจีนลงใต้ผ่านอาเซียน ไปยังแอฟริกา ตะวันออกกลาง และวกขึ้นยุโรป ทำให้จีนเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อเศรษฐกิจโลก 

จากแผนที่นี้ จีนจะได้ประโยชน์อย่างมากหากสามารถผลักดันคลองกระให้สำเร็จได้ เนื่องจากแทนที่จะต้องเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกาที่อากาศแปรปรวนและมีโจรสลัดชุกชุม ก็สามารถตัดตรงผ่านคลองกระไปยังทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียได้เลย 

แม้รัฐบาลจีนจะไม่เคยยอมรับว่ากำลังผลักดันโครงการนี้อย่างเป็นทางการ แต่ The Diplomat รายงานว่าไทยและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MoU ในโครงการนี้ที่นครกวางโจวตั้งแต่ปี 2015 แต่ไทยก็พยายามหาเงินทุนจากหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และประเทศอื่นๆในอาเซียน และนับตั้งแต่ปี2017 สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน หรือ TCCEA และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ หรือ EABC ได้มีการจัดประชุมหารือเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการคลองกระ หรือคลองไทย และมีการประชุมล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มทหารระดับสูงที่สนับสนุนการขุดคลองกระ ก็ผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง 

มีการประเมินกันว่าโครงการคลองกระจะใช้งบประมาณราว 28,000 ล้านดอลาร์ หรือ 868,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างนาน 10 ปี โดยทางการจีนยินดีให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยีแก่ไทย เพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

โคลงการคลองไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนคลองที่เชื่อมต่อทะเลจีนใต้เข้ากับมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องผ่านเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดในโลกอย่างช่องแคบมะละกา ทำให้น้ำมันที่จะส่งเข้าไปในจีนกว่าร้อยละ 80 ซึ่งขนส่งผ่านช่องแคบดังกล่าว ใช้เวลาเดินทางน้อยลง หมายถึงต้นทุนที่ถูกลง ส่วนที่ 2 คือส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ประกอบด้วยเมืองและเกาะเทียมรายล้อมคลองไทย กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และเชื่อมโยงไทยเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคอีกหลายประการที่อาจทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจีนประเมินว่าโครงการนี้จะใหญ่โตไม่ต่างจากการสร้างเขื่อนสามผาในจีน ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านความมั่นคง ที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้การขุดคลองกระไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะเกรงว่าจะยิ่งสร้างความแตกแยกในจังหวัดภาคใต้ เพราะคลองนี้จะเปรียบเสมือนการแบ่งพื้นที่ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในภาคใต้