เมื่อเวลา 18.15 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวก่อนอภิปรายว่า ตนมาจากพรรคที่คน 6.3 ล้านคนเลือก และถูกยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน จากนั้นอภิปรายต่อในประเด็นเศรษฐกิจที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจตอนนี้เป็นของนายทุน โดยนายทุน เพื่อนายทุน แม้จีดีพีไม่ได้ติดลบ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็มีอยู่จริง โดยความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปี 2562 แย่พอๆ กับปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกทั้งอัตราการว่างงานและหนี้สินครัวเรือนตอนนี้แย่กว่ายุควิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจยุคนี้แข็งบนอ่อนล่าง ขณะที่ในยุคต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจแข็งล่างอ่อนบน ดังนั้นปัญหาตอนนี้มันจึงแก้ยาก คนรวยกับคนจนอยู่กันบนโลกคนละใบ จึงมองไม่เห็นความทุกข์ แต่ประชาชนรู้นานแล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 68 เดือน ขณะเดียวกันก็มีคำถามกับคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยบอกว่าจะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
"คำถามคือ ใครบ้างที่ยังรู้สึกมั่นคง เด็กจบใหม่รู้สึกไม่มั่นคง คนวัยเกษียณยากจน เกษตรกรมีรายได้น้อยลงแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น แม่ค้าพ่อค้าที่ไปเจอมาก็มียอดขายน้อยลง ข้าราชการหรือทหารผู้น้อยก็ไม่มั่นคง ดูจากเหตุการณ์ที่โคราช ถ้าไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มั่นคง เพราะนโยบายของรัฐบาลเหมือนเอายาพาราให้คนเป็นมะเร็ง ใช้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่นโยบายไม่มีประสิทธิภาพ คำถามต่อมาคือใครมั่งคั่งมากขึ้น สื่อต่างประเทศที่เชื่อถือได้นำเสนอว่า 5 ตระกูลเจ้าสัวในไทย 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจาก 5 ปีก่อนกว่า 1 ล้านล้านบาท" นายพิธา ระบุ
นายพิธา ยังตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เช่น โครงการอีอีซี มีการสร้างรถไฟเชื่อสนามบิน ประมูลธุรกิจปลอดภาษีให้เจ้าเดียวผูกขาดทั้งสนามบิน ขณะเดียวกันประเทศที่มีการแข่งขัน นักท่องเที่ยวจะใช้เงินมากกว่าไทยถึง 5 เท่า มีการปรับเพิ่มภาษีเหล้าขาวเพื่อที่จะไปแข่งขันเหล้าของเจ้าสัวได้ และคำถามสุดท้ายคือ ใครยั่งยืน
ส่วนการดำเนินนโยบายก็ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ตั้งคำถามได้ว่าตั้งใจละเลยสุขภาพของประชาชนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่ ปัญหาแรกคือ PM 2.5 ต้นตอมาจากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ เกษตรประชารัฐ เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 6 ล้านไร่ทั่วประเทศ และมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ปีนึงคนไทยตายเพราะมลพิษทางอากาศกว่า 5 หมื่นคน และ PM 2.5 ยังกระทบถึงเศรษฐกิจเสียหาย 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งการปลูกอ้อยยังใช้พาราควอตมากกว่าปลูกข้าว เป็นที่สงสัยว่านโยบายนี้ใครได้ประโยชน์ ทั้งที่ราคาอ้อยก็ไม่ได้สูงขึ้น คณะกรรมการด้านการเกษตรก็มีตัวแทนในบริษัทน้ำตาลรายใหญ่เข้าไป ซึ่งในการประชุมไม่มีรายงานที่กระทรวงเกษตรฯ แต่อยู่ที่บริษัทน้ำตาล และไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากเหมืองแร่ ที่ไม่ต้องทำ EIA อีกทั้งโครงการ EEC ก็มีปัญหาขยะรีไซเคิล ไทยกลายเป็นถังขยะของโลก เพราะนำเข้าพลาสติกเยอะมาก เกิดจากคำสั่ง คสช. 4/2559 หรือไม่ และขยะนั้นเกิดจากการทุจริตการนำเข้าขยะ ด้านความยั่งยืนทางเศรษฐกิจก็ไม่มี กลยุทธ์การขายออนไลน์ รัฐบาลก็ไม่เท่าทัน อีกทั้งยังเชิญนายทุนจีนมาทำธุรกิจที่ไทยให้ง่ายขึ้น ที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลสร้างขึ้น เงินที่ทำนโยบายก็เข้าสู่กระเป๋านายทุนไทยและต่างชาติ
นายพิธา ระบุว่า การบริหารเศรษฐกิจ ล้มเหลว รัฐบาลนี้ อยู่ต่อไม่ได้แม้อีก 1 วัน ถ้าอยู่ต่อไปนานความเสียหายของประเทศชาติก็จะทวีคูณ ผมจึงไม่สามารถไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไปได้อีกวันเดียว ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างเช่นนี้ รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดอีกกี่แสนล้าน เงินก็หมุนไปสู่นายทุนไทย 3 ตระกูลใหญ่ และเข้าสู่นายทุนจีนผ่านโลกออนไลน์อยู่ดี
"ทุกวันนี้เศรษฐกิจประเทศต้องผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจประเทศจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ มีดที่เราใช้ผ่าตัดประเทศต้องคมพอตัดก้อนมะเร็งร้ายให้ขาดออกไป ทลายทุนผูกขาดเพื่อให้คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศชาติเสียหายมากเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อไปอีก 1 วันก็จะสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมากขึ้นอีก 1 วัน ถ้าอยู่ต่อไปนานความเสียหาย ผมไม่สามารถไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แม้แต่วันเดียว" นายพิธากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง