เรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด ล่าสุดนักวิจัยไทย ค้นพบสารสำคัญที่อยู่ในกัญชา ซึ่งพิสูจน์ผ่านหลอดทดลองและสัตว์ทดลองแล้วว่า สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดได้
นักวิจัยผู้ที่คิดค้นสารสำคัญจากกัญชา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งสารดังกล่าวมีชื่อว่า "แคนนาบินอล" หรือ CBN
ทีมนักวิจัยเล่าว่า สารหลักในกัญชามีหลายตัว เช่น THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและต่อต้านการเจริญเติบโตของมะเร็งหลายชนิด รวมถึงสาร CBD ซึ่งความตั้งใจเดิมของมหาวิทยาลัยรังสิต คือนำสาร THC มาใช้ประโยชน์ แต่ระหว่างทางศึกษา พบว่ากัญชาแห้งที่เก็บไว้ ยิ่งมีสารอีกหนึ่งตัวที่ชื่อว่า CBN เพิ่มมากขึ้น จึงทำการวิจัยว่าสาร CBN จะมีคุณลักษณะในการต่อต้านมะเร็งคล้ายกับสาร THC หรือไม่
สำหรับวิธีวิจัย ได้ทำทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง โดยการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปอดไว้ในหนูทดลอง จากนั้นฉีดสาร THC และ CBN จากกัญชา ใต้ผิวหนังหนูต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ พบว่า ก้อนมะเร็งเล็กในหนูทดลอง มีขนาดเล็กลงอย่างชัดเจน การวิจัยนี้เป็นสิ่งยืนยันว่ากัญชามีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งปอดของมนุษย์ได้
ซึ่งการนำสาร CBN มาประยุกต์รักษามะเร็ง เหมาะสำหรับการนำกัญชาของกลางมาใช้ประโยชน์ เพราะจะพบ CBN ได้มากในกัญชาแห้ง ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ระบุว่า จากการค้นหางานวิจัยทั่วโลก ยังไม่พบว่ามีผู้ใดใช้สาร CBN ยับยั้งเซลล์มะเร็งมาก่อน
สำหรับแนวทางในการนำสารดังกล่าวมาปรับใช้ในคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างการขออนุญาต ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายขั้นตอน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท เพื่อเตรียมขยายงานวิจัยสู่ระดับอุตสาหกรรม และพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย
ซึ่งล่าสุดมีการวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์ถึง 4 ผลิตภัณฑ์ คือ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืน , น้ำมันกัญชา , แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก ช่วยคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดี และยาประสะกัญชา ซึ่งเป็นตำรับยาไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ใช้รักษาอาการป่วยไข้ ที่ได้มีการขออนุญาตจาก อย. เพื่อนำมาศึกษาวิจัยครั้งนี้