อียูเตรียมรับรอง ‘สิทธิในการซ่อม’ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยผู้ผลิตจำเป็นต้องมีอะไหล่ของเครื่องไฟฟ้ารุ่นต่างๆ รองรับ เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า แทนที่จะถูกบังคับให้ต้องซื้อเครื่องใหม่ทุกครั้งที่เครื่องใช้ไฟฟ้าเสีย
คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศมาตรฐานใหม่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าว่า นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 เป็นต้นไป บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประเภทไฟส่องสว่าง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และตู้เย็นต้องทำให้อุปกรณ์ของบริษัทตัวเองใช้ในยาวนานขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยมีการประเมินว่า มาตรการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ประมาณ 150 ยูโร หรือราว 5,000 บาทต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตจะต้องสำรองอะไหล่ชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น วงแหวนอัดลูกสูบ เครื่องตัดกระแสไฟฟ้า เอาไว้อย่างน้อย 7-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าซ่อมได้ภายในเวลา 15 วัน และหากบริษัทอังกฤษที่ต้องการขายเครื่องใช้ในอียูหลังจากออกจากการเป็นสมาชิกอียูไปแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎนี้เช่นกัน
ประกาศของคณะกรรมาธิการยุโรปออกมาหลังจากที่ผู้บริโภคทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือร้องเรียนว่า เครื่องใช้ไฟฟ้ามักเสียหลังจากหมดเวลารับประกันเพียงไม่นาน และผู้บริโภคก็ไม่สามารถซ่อมเครื่องใช้ได้เอง ไม่สามารถหาช่างที่จะซ่อมเครื่องใช้ได้ในราคาที่พอรับได้ รวมถึงหาอะไหล่ในการซ่อมไม่ค่อยได้ ทำให้พวกเขาเหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อเครื่องใหม่ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะและปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่
โคลเอ เฟโยล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอีโคส์ (Ecos) กล่าวว่า คนเริ่มเรียกร้องสิทธิในการซ่อมสิ่งของของตัวเองกันมากขึ้น จากสหรัฐฯ มาจนถึงยุโรป เพราะพวกเขาเหนื่อยกับสินค้าที่ถูกออกแบบมาให้เสียก่อนเวลาอันควร ด้านลิบบี พีค จากพันธมิตรยูเคกรีนกล่าวว่า มาตรฐานใหม่ของอียูเป็นก้าวสำคัญไปในทางที่ถูกต้อง และอาจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้เกือบ 50 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม สเตฟานี อาร์ดิทีจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป กล่าวว่า ประกาศของคณะกรรมาธิการยุโรปยังทำให้ผู้บริโภคต้องพึ่งพาช่างซ่อมในบริษัทเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ผู้บริโภคยังไม่สามารถซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เองอยู่ดี ทั้งที่ผู้บริโภคควรจะได้รับอนุญาตให้ซื้ออะไหล่และซ่อมเครื่องใช้ได้เอง ถือเป็นการเสียโอกาสที่จะทำให้การซ่อมมีราคาที่เข้าถึงได้และประหยัดเวลาในการซ่อม
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตโต้แย้งว่า การปล่อยให้ผู้บริโภคซื้ออะไหล่ไปเปลี่ยนเองอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตจะผลิตอะไหล่สำรองของผลิตภัณฑ์ไว้ให้สำหรับช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิสระไปซ่อมเครื่องใช้ให้ผู้บริโภคแทน
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังปรับมาตรฐานการประหยัดพลังงานในเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย เช่น การจัดเรตติ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานให้เข้มงวดขึ้น หลังถูกวิจารณ์ว่า กฎระเบียบที่ใช้ปัจจุบันล้าสมัยแล้ว เพราะเครื่องซักผ้ามากกว่าร้อยละ 55 ที่ขายในอียูได้เรตติ้ง A+++ โดยมีการคาดการณ์ว่า การปรับเปลี่ยนมาตรการให้เครื่องใช้ไฟฟ้าครั้งนี้จะช่วยประหยัดพลังงานในยุโรปไปเป็นมูลค่า 20,000 ล้านยูโรต่อปีหรือประมาณร้อยละ 5 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในอียูภายในปี 2030