แกนนำ 'กองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย' หรือ 'ฟาร์ก' ประกาศปลดอาวุธตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2560 เพื่อยุติการต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบียที่ยืดเยื้อมานานกว่า 50 ปี แต่สมาชิกของกลุ่มฟาร์กยังต้องปรับตัวอีกมากเพื่อจะกลับคืนสู่การเป็นพลเรือนเต็มตัว
นับตั้งแต่แกนนำของกลุ่มฟาร์กประกาศปลดอาวุธ และให้คำมั่นสัญญากับสหประชาชาติว่าจะยุติการใช้กำลังต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบียเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก็มีความพยายามจากสมาชิกของกลุ่มฟาร์กที่จะปรับตัวเข้ากับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมโคลอมเบีย ซึ่งบางอย่างก็ประสบความสำเร็จ และบางอย่างก็ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เพราะสมาชิกบางส่วนของกลุ่มฟาร์กก็เริ่มจะไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลโคลอมเบียเสนอมา
ส่วนสมาชิกกลุ่มฟาร์กที่เป็นผู้หญิง ได้เคลื่อนไหวครั้งล่าสุดด้วยการจัดแฟชั่นสนับสนุนสันติภาพขึ้นที่กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดย 'มิเลน่า เรเยส' อดีตนักต่อสู้ของกลุ่มฟาร์ก ซึ่งผันตัวมาออกแบบแฟชั่น เปิดเผยกับสื่อว่า การวางอาวุธและปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่เคยจับอาวุธต่อสู้ แต่เธอเชื่อว่าการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนสันติภาพของสมาชิกกลุ่มฟาร์กก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะสื่อสารไปยังประชาชนทั่วไปในโคลอมเบียว่า พวกเขาพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของสังคมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ รัฐบาลโคลอมเบียยังส่งเสริมมาตรการฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอาชีพให้กับสมาชิกกลุ่มฟาร์กอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า การจะปรับให้นักต่อสู้อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ จำเป็นจะต้องส่งเสริมทักษะในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต และคาดหวังว่า ถ้าคนเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะไม่หวนกลับไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอีก
ที่ผ่านมา กลุ่มฟาร์กเกิดจากการรวมตัวของคนยากจนและชาวไร่ชาวนาที่เรียกร้องให้รัฐบาลโคลอมเบียปฏิรูปที่ดิน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้คนกลุ่มนี้จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล และความขัดแย้งดำเนินมานานกว่า 50 ปี มีผู้เสียชีวิตราว 2 แสน 5 หมื่นคน และหายสาบสูญอีกประมาณ 6 หมื่นคน จนกระทั่งประธานาธิบดี 'ฮวน มานูเอล ซานโตส' อดีตผู้นำโคลอมเบีย ผลักดันให้เกิดการลงนามเจรจาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มฟาร์กได้สำเร็จในปี 2559 และนำไปสู่การประกาศปลดอาวุธของกลุ่มฟาร์กในเดือนมิถุนายนปี 2560
แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มฟาร์กจำนวนหนึ่งประกาศว่าจะกลับไปจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบียเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล และในช่วงที่นายอีวาน ดูเก ประธานาธิบดีโคลอมเบียคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่ง มีอดีตสมาชิกกลุ่มฟาร์กและแกนนำชุมชนที่เป็นพันธมิตรกลุ่มฟาร์กถูกลอบสังหารเสียชีวิตไปแล้วกว่า 150 คน และรัฐบาลไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้ ทำให้นักวิเคราะห์เกรงว่าอาจจะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาได้