แม้จะมีข่าวดีว่า 'ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน' เตรียมย้ายไลน์การผลิตมอเตอร์ไซค์จากสหรัฐฯ มายังไทย ปลายปีนี้ หลังจีนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ในระยะยาว สงครามการค้าจะกระทบธุรกิจส่งออกและสายพานการผลิตในไทยเช่นเดียวกัน
สำนักข่าว 'อัลจาซีรา' รายงานว่าท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประเทศผู้ส่งออกอย่างไทยที่เจอภาวะวิกฤตยังพอมีทางออกที่ดีบ้าง โดยชี้ว่าประเทศไทยยังมีโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าจากจีน
'สก็อต ไฮด์เลอร์' ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า 'ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน' บริษัทผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่จากสหรัฐฯ มีแผนย้ายฐานผลิตมอเตอร์ไซค์ที่จะส่งให้จีนมาที่ประเทศไทย เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่จีนจะปรับขึ้นในช่วงสิ้นปี 2562
นอกจากนี้ 'อัลจาซีรา' รายงานว่า ฮาร์ลีย์-เดวิสัน ได้ตั้งโรงงานการผลิตรถจักรยานยนต์ในไทยตั้งแต่ก่อนมีสงครามการค้าแล้ว เพื่อรองรับอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกก่อนหน้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม 'สมภพ มานะรังสรรค์' อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ความกดดันจะส่งผลให้จีนหันมาทำทุกอย่างภายในประเทศด้วยตนเอง เพื่อปรับลดภาระต้นทุน ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำภาวะวิกฤตด้านการส่งออกในประเทศที่พึ่งพิงจีนเป็นอย่างมาก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น
ซึ่งความกังวลดังกล่าว ยิ่งถูกตอกย้ำเมื่อ 'ลอร์รี คัดโลว' ที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาวิเคราะห์ว่า สถานการณ์สงครามการค้ายังจะต้องใช้เวลาอีกเป็นปีในการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน
ขณะที่ 'รัฐพล ลาภศรีสวัสดิ์' ผู้บริหารบริษัท เซราเดคคอร์ จำกัด กิจการเซรามิกขนาดกลางในประเทศไทย เปิดเผยกับ 'อัลจาซีรา' ว่ากิจการของเขาได้รับผลกระทบอยู่บ้างในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบ เพราะที่ผ่านมาพึ่งพาจีนค่อนข้างมาก แต่เขามองว่า ไทยยังมีจุดแข็งเรื่องแรงงานฝีมือที่มีความประณีต จึงคิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า ยอดส่งออกของไทยในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าราวร้อยละ 0.65 และลดลงจากเดือนมิถุนายนราวร้อยละ 3.24
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกรวมในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ปี 2562 มีมูลค่า 4.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 2.43 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกไทยมีมูลค่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.91
นอกจากนี้ สถานการณ์ดุลการค้าของประเทศยังอ่อนแอลง ในช่วงมกราคมถึงกรกฎาคม ปี 2562 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 14.47 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่าราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกัน ของปี 2561 ร้อยละ 5.28