ไม่พบผลการค้นหา
ยุโรปยังตกลงกันไม่ได้ ทางรอดใหม่ของปูตินคือเอเชีย?

การเจรจาเรื่องการคว่ำบาตรน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซียมีมาระยะหนึ่งตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ประเทศตะวันตกที่พึ่งพาน้ำมันดิบจากรัสเซียน้อย ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดห้ามการซื้อน้ำมันของรัสเซียโดยสิ้นเชิง

ชาติที่เผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซของรัสเซียมากที่สุด คือประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่นำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย คิดเป็น 40% และ 27% ของความต้องการทั้งหมด ประเทศเยอรมนีเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ตามมาด้วยอิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฮังการี และโปแลนด์


การประชุมล่าสุดของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป ถูกมองว่า ‘ล้มเหลว’

เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์โต้แย้งว่า สหภาพยุโรปไม่สามารถลดการพึ่งพาน้ำมันดิบและก๊าซของรัสเซียได้ในชั่วข้ามคืน ฮังการีคัดค้านการห้ามนำเข้าพลังงานของรัสเซีย ในขณะที่บัลแกเรียกล่าวว่า อาจขอใช้สิทธิ์ยกเว้นการทำตามข้อตกลง หากการคว่ำบาตรได้รับการอนุมัติ

โรงกลั่นบางแห่งที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในยุโรปตะวันออกรวมทั้งประเทศเยอรมนีล้วนพึ่งพาน้ำมันดิบของรัสเซียผ่านทางท่อเกือบทั้งหมด เยอรมนียังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในการเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่น และพลังงานจากที่อื่นก็ยังไม่สามารถเร่งการผลิตได้เร็วเพียงพอที่จะรองรับความต้องการการใช้งานของคนในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีตั้งเป้าที่จะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับโปแลนด์

นอกสหภาพยุโรป จีนและอินเดีย ซึ่งปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ยังคงซื้อน้ำมันของรัสเซียต่อไป เช่นเดียวกับตุรกี ลูกค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของรัสเซีย ซึ่งกำลังหาทางไกล่เกลี่ยระหว่างเคียฟและมอสโก


ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ทยอยลดการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย

แม้สหภาพยุโรปจะยังไม่ฟันธงชัดๆ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ผู้ซื้อรายใหญ่ทั่วโลกต่างทยอยหลีกเลี่ยงการซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียโดยสมัครใจ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นหากสหภาพยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซของรัสเซียจริงๆ โดยจะเริ่มลดปริมาณการซื้ออย่างเร็วที่สุดตั้งแต่ 15 พ.ค. เป็นต้นไป

บริษัท Trafigura ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า "จะปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เราคาดว่าปริมาณการซื้อขายของเราจะลดลงอีกตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม"

บริษัท Vitol ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อีกรายปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลดการซื้อภายในกลางเดือนพฤษภาคม แต่ก่อนหน้านี้ Vitol เคยกล่าวว่า ปริมาณการซื้อขายน้ำมันของรัสเซีย "จะลดลงอย่างมากในไตรมาสที่สอง เนื่องจากภาระผูกพันตามสัญญาระยะยาวลดลง" และจะยุติการซื้อขายน้ำมันของรัสเซียภายในสิ้นปี 2565

โรงกลั่นในยุโรปเริ่มลังเลที่จะแปรรูปน้ำมันดิบของรัสเซียมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในระดับหนึ่ง แม้ว่าการซื้อของอินเดียและตุรกีจะยังช่วยชดเชยได้บางส่วน และการขายไปยังประเทศจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


AFP ปูติน.jpg

ปูตินบอกยุโรป: พวกคุณยังต้องการก๊าซจากรัสเซีย แต่เรากำลังจะไปหาเอเชียแล้ว

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (14 เม.ย. 65) ที่ผ่านมาว่า มอสโกจะพยายามเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกพลังงานของตนไปทางตะวันออก เนื่องจากยุโรปพยายามลดการพึ่งพาพลังงานเหล่านี้ และเสริมว่า ชาติต่างๆ ในยุโรปจะไม่สามารถยกเลิกการพึ่งพาก๊าซของรัสเซียได้ในทันที

ในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังถกเถียงกันว่าควรคว่ำบาตรก๊าซและน้ำมันของรัสเซียหรือไม่ และรัฐสมาชิกกำลังแสวงหาพลังงานจากที่อื่น รัสเซียได้สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน ผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ที่ผ่านมาประเทศนอกสหภาพยุโรปที่เป็นลูกค้านำเข้าพลังงานจากรัสเซียคือ ตุรกี คาซัคสถาน จีน และญี่ปุ่น เรียงตามปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากมากไปน้อย

“ผู้ร่วมค้าขายกับเราจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร ยอมรับกับตัวเองว่า พวกเขาไปต่อไม่ได้หากยกเลิกการพึ่งพาทรัพยากรพลังงานของรัสเซีย เช่น การไม่มีก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น… ตอนนี้ยังไม่มีอะไรแทนที่ก๊าซของรัสเซียได้ในยุโรป” ปูตินกล่าวในการประชุมของรัฐบาลที่ถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ในรัสเซีย

ปูตินยังกล่าวอีกว่า การที่ยุโรปพูดถึงการยกเลิกการนำเข้าแหล่งพลังงานจากรัสเซีย ส่งผลทำให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้น และทำให้ตลาดสูญเสียเสถียรภาพ

เขากล่าวว่า รัสเซีย ประเทศที่มีปริมาณการผลิตน้ำมันประมาณหนึ่งในสิบและก๊าซธรรมชาติหนึ่งในห้าของโลก ต้องการโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อส่งพลังงานให้กับเอเชียมากขึ้น

เขาสั่งให้รัฐบาลนำเสนอแผนภายในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งรวมถึง "การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งไปยังประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก" นอกจากนี้ ปูตินยังต้องการความกระจ่างเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะรวมท่อส่ง 2 แห่ง ได้แก่ Power of Siberia ซึ่งผูกติดกับจีน และ Sakhalin-Khabarovsk-Vladivostok ท่อทางตะวันออกที่อยู่ในระบบส่งก๊าซแบบครบวงจรของรัสเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ในทางทฤษฎี การเชื่อมต่อท่อเหล่านี้อาจช่วยให้รัสเซียเปลี่ยนทิศทางการไหลของก๊าซจากยุโรปไปยังเอเชียได้

รัสเซียเปิดตัวโครงการท่อส่งก๊าซไปยังประเทศจีนในปลายปี 2019 และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศตกลงเซ็นสัญญา 30 ปี เพื่อส่งก๊าซผ่านท่อใหม่ที่ยังไม่ได้สร้าง

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ผู้กลั่นน้ำมันของจีน แม้จะให้เกียรติสัญญาการซื้อขายน้ำมันของรัสเซียเดิมที่มีอยู่ แต่หลีกเลี่ยงการซื้อเพิ่มในสัญญาใหม่แม้จะได้รับส่วนลดเยอะมาก โดยอ้างว่า รับฟังเสียงเรียกร้องของทางการจีนที่สั่งให้ระมัดระวังสถานการณ์การคว่ำบาตรที่ยุโรปอาจมีต่อรัสเซีย แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนบอกว่า บริษัทสัญชาติจีนไม่ต้องการถูกมองว่าสนับสนุนมอสโกอย่างเปิดเผยด้วยการซื้อน้ำมันเพิ่ม


ที่มา:

https://www.reuters.com/business/energy/who-is-still-buying-russian-crude-oil-2022-03-21/

https://www.bbc.com/news/58888451

https://www.reuters.com/business/energy/exclusive-oil-traders-cut-russian-oil-purchases-may-15-sources-2022-04-13/

https://www.reuters.com/world/europe/putin-tells-europe-you-cannot-ditch-russian-gas-were-turning-east-2022-04-14/

https://www.reuters.com/business/energy/exclusive-china-state-refiners-shun-new-russian-oil-trades-teapots-fly-under-2022-04-06/