ไม่พบผลการค้นหา
TRAFFIC องค์กรคุ้มครองสัตว์ป่าระหว่างประเทศ เผยรายงานวิจัยการลักลอบค้าสัตว์ป่าในยุคดิจิทัล พบตลาดซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์ในไทยมีขนาดใหญ่-ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสัตว์ต่างถิ่นบางชนิดไม่อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง มีช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมาย

รายงานขององค์กร TRAFFIC ชื่อว่า Trading Faces: a rapid assessment on the use of Facebook to trade wildlife in Thailand เป็นการสรุปผลวิจัยและสำรวจข้อมูลตลาดซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 'เฟซบุ๊ก' ในประเทศไทย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทราฟฟิกเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) บ่งชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่ตลาดลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายมานานแล้ว 

นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าของทราฟฟิกและเครือข่ายพันธมิตรได้ร่วมกันสังเกตการณ์เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊กในประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยช่วงเดือน มิ.ย. 2559 พบว่ามีสัตว์ 1,521 ตัวจาก 200 ชนิดพันธุ์ถูกเสนอขายในกลุ่มเหล่านี้ โดย 'สัตว์ปีก' พันธุ์ต่างๆ ถูกเสนอขายมากที่สุด รวม 516 ตัว รองลงมา คือ นางอาย หรือลิงลม (Nycticebus coucang) ถูกเสนอขาย 139 ตัว และเต่าเดือยแอฟริกัน หรือเต่าซูลคาตา Centrochelys sulcata รวม 115 ตัว 

เนื้อหาในรายงานของทราฟฟิกระบุว่า มากกว่าครึ่งของสัตว์ที่ถูกเสนอขาย เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) และส่วนใหญ่ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการประเมินโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) เช่นกัน 

รายงาน TRAFFIC-ลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์-Spotted owlet.jpg

นอกจากนี้ยังพบสัตว์ 2 ชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในขณะนี้ (Critically Endangered) ได้แก่ นกชนหิน (Rhinoplax vigil) และจระเข้น้ำจืดชนิดพันธุ์ไทย, จระเข้สยาม, จระเข้บึง หรือจระเข้น้ำจืด Crocodylus siamensis ซึ่งทั้งสองชนิดพันธุ์นี้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทยและอยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) บนอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (อนุสัญญาไซเตส) 

รายงาน TRAFFIC-ลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์-Knobbed Hornbill.png

คณะนักวิจัยของทราฟฟิกได้สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้ง 12 กลุ่มบนเฟซบุ๊กในประเทศไทย มีอย่างน้อย 9 กลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง สมาชิกในกลุ่มเหล่านี้ยังประกาศขายสัตว์ป่าทั้งชนิดพันธุ์ที่ถูกคุ้มครองตามกฎหมายและชนิดพันธุ์ที่ไม่ถูกคุ้มครอง รวมถึงสัตว์ชนิดพันธุ์ที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติในประเทศไทย หรือเป็นสัตว์ต่างประเทศด้วย และหนึ่งใน 12 กลุ่มได้เปลี่ยนสถานะไปเป็น 'กลุ่มลับ' เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังมีจำนวนสมาชิกเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกเพิ่มสูงถึง 68,000 รายในปีนี้ จากเดิมที่เคยมีเพียง 27,503 รายในปี 2559

ผลของการประเมินบ่งชี้ชัดเจนว่า การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในสื่อออนไลน์ 'เฟซบุ๊ก' ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างมากมาย และจะต้องการความใส่ใจและการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานปราบปรามของภาครัฐและจากเฟซบุ๊ก โดยเฟซบุ๊กได้ประกาศเข้าร่วมกับพันธมิตรนานาชาติเพื่อการหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ (Global Coalition to End Wildlife Trafficking Online) รวมทั้งร่วมงานกับทราฟฟิกในการควบคุมและจัดการการลักลอบค้าสัตว์

รายงาน TRAFFIC-ลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์-Star tortoise and Sulcata tortoise.jpg

จากกรณีดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ก่อตั้งหน่วยงานต่อสู้กับอาชญากรรมสัตว์ป่าออนไลน์โดยเฉพาะเมื่อเดือน เม.ย. 2560 โดยเป็นที่รู้จักกันในนามของ 'เหยี่ยวดง' ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กรมอุทยานฯ) หน่วยงานนี้มีอำนาจตรวจค้น ตรวจยึด และจับกุมผู้ใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับการครอบครองและการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และทราฟฟิกเสนอว่า ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะสนับสนุนการปราบปรามทางกฎหมายควรจะสอดคล้องกับชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง

นอกจากนี้ยังพบว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย ยังมีช่องโหว่มากมาย ได้แก่ บทลงโทษที่เบามาก ไม่สามารถจัดการการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทราฟฟิกจึงสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิรูป พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยควรจะคำนึงถึงการเพิ่มชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามโดยการค้าที่ยังไม่ถูกบรรจุเข้าไว้ในกฎหมายปัจจุบันมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ควรจะรวมการคุ้มครองชนิดพันธุ์ต่างประเทศที่อยู่บนบัญชีในอนุสัญญาไซเตสด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะควบคุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะต้องปฏิรูประบบการขึ้นทะเบียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้มีระบบตรวจสอบการได้มาซึ่งสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างๆ และควรเพิ่มบทลงโทษ 'การโฆษณา' และ 'การค้าสัตว์ป่าออนไลน์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับอนุญาต' โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยควรสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดในการทำงานกับเฟซบุ๊กและสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อพัฒนากลยุทธ์กำจัดการลักลอบการค้าสัตว์ป่าผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกัน และต้องกระตุ้นหรือส่งเสริมประชาชนทั่วไปให้รายงานอาชญากรรมของกลุ่มค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแก่ภาครัฐด้วย

รายงาน TRAFFIC-ลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์-Common palm civet.jpgรายงาน TRAFFIC-ลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์-White-handed Gibbon.jpg

การรายงานเบาะแสกลุ่มค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ 

1. รายงานต่อหน่วยงานปราบปรามระดับชาติ เช่น ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

2. รายงานโดยตรงต่อเฟซบุ๊ก: ข้อกำหนดทางชุมชนของเฟซบุ๊กมีนโยบาลต่อต้านกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ผิดกฎหมาย รวมถึงอาชญากรรมสัตว์

3. รายงานผ่าน TRAFFIC รวมไปถึงแอปพลิเคชั่น Wildlife Witness ที่สามารถดาวน์โหลดได้บนไอโฟนและแอนดรอยด์

ภาพทั้งหมดจาก: TRAFFIC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: