24 ก.พ.ของปีที่แล้ว โลกต่างตกตะลึงกับการตัดสินใจในการรุกรานยูเครนของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากการวิเคราะห์ไปในแนวทางเดียวกันว่า รัสเซียจะไม่เข้ารุกรานยูเครน เนื่องจากภาวะได้ไม่คุ้มเสียที่รัสเซียอาจประสบจากการทำสงคราม แต่จนถึงวันที่ 24 ก.พ.ในปีนี้ สงครามยูเครนยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง
เป็นเวลา 7 วันที่รัสเซียคาดการณ์ว่า กองทัพอย่างเต็มรูปแบบของตัวเองจะสามารถบุกยึดกรุงเคียฟของยูเครน และโค่นล้มรัฐบาลของ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2-7 วัน แต่ปูตินกลับคาดการณ์ผิด เพราะเซเลนสกีตัดสินใจจะอยู่ในกรุงเคียฟเพื่อปกป้องประเทศของตัวเองต่อโดยไม่หนีไปไหน ในขณะที่ชาติตะวันตกกลับผนึกรวมกันเป็นหนึ่งและเดินหน้าให้ความช่วยเหลือยูเครนมานานนับปีแล้ว
ปัจจุบันนี้ สงครามยูเครนเปลี่ยนรูปแบบและสมรภูมิไปจากช่วงแรกของการรุกรานอยู่อย่างมาก แต่ทั้งสองชาติคู่ขัดแย้งกำลังประสบกับภาวะชะงักงัน สงครามยังคงมีการรบพุ่งกันอยู่อย่างดุเดือดในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน และกลับไม่มีชาติใดได้รุกคืบพิชิตดินแดนได้อย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว ความชะงักงันดังกล่าวและการโจมตีของรัสเซียแบบไร้มนุษยธรรม แทบจะทำให้โลกหลงลืมไปว่า เพราะเหตุใดรัสเซียจึงเข้ารุกรานเพื่อนบ้านตัวเองอย่างยูเครน
สงครามยูเครนเข้าสู่วาระครบรอบ 1 ปี หลังจากความพยายามของปูติน ในการเข้ายึดกรุงเคียฟของยูเครน และโค่นล้มรัฐบาลของเซเลนสกีภายในระยะเวลา 7 วัน แต่สงครามกลับยืดเยื้อมานานแล้วกว่า 365 วันแล้ว ทั้งนี้ ก่อนการรุกรานแทบจะไม่มีใครเชื่อว่ารัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครน แม้จะมีการรายงานข่าวกรองจากทางสหรัฐฯ ที่พบว่า รัสเซียกำลังระดมพลของตัวเองบริเวณพรมแดนทางตอนเหนือของยูเครนในเบลารุส ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาทำแค่เพียงการฝึกซ้อมรบ
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาเตือนรัสเซียให้ล้มเลิกความคิดในการรุกรานยูเครน ในขณะที่ความคิดของผู้นำยุโรปอย่าง โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่พยายามพูดคุยกับทางปูติน และมาครงเองเป็นผู้ออกมายืนยันคำพูดจากปากของปูตินว่าจะไม่เกิดการรุกรานขึ้น แต่คำยืนยันของประธานาธิบดีฝรั่งเศสกลับผิดพลาดอย่างมหันต์ รัสเซียยกทัพเข้ารุกรานยูเครนภายใต้สิ่งที่ปูตินเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ในวันที่ 24 ก.พ.ปีก่อนแบบสายฟ้าแลบ
ปูตินอ้างว่ารัสเซียพยายามหาทางเจรจากับชาติตะวันตกและยูเครนมานาน ในขณะที่ชาติพันธมิตรอ้างว่า รัสเซียเองเป็นผู้พยายามเบี่ยงเบนประเด็นจนทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้น ท่าทีพลิกกลับไปมาของรัสเซียต่อตะวันตกดังกล่าวระเบิดพังทลายลงในเวลาต่อมาไม่นาน หลังการเข้าทำ “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ทั้งนี้ ปูตินออกแถลงผ่านโทรทัศน์ของรัฐ ระบุถึงข้ออ้างในการรุกรานยูเครน 3 ประการ อันประกอบไปด้วย
ข้ออ้างต่างๆ ถูกปฏิเสธโดยประชาคมโลก ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปประกาศการคว่ำบาตรชนชั้นนำของรัสเซีย รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสงครามการรุกรานและวงอำนาจรอบตัวปูติน ชาติสมาชิกในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจำนวนมากตัดสินใจออกมติประณามการรุกรานในครั้งนี้ รัสเซียถูกโดดเดี่ยวออกจากประชาคมโลกอย่างรุนแรง แม้ปูตินจะพยายามขู่กรรโชกโลกทั้งใบด้วยวิกฤตด้านพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจทำให้การสนับสนุนยูเครนของยุโรปเกิดความไขว้เขวได้ แต่สถานการณ์ทุกอย่างกลับดำเนินมาในทางฝั่งยูเครน ผู้ซึ่งถูกรุกรานด้วยความโหดร้ายรุนแรง
ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ รัสเซียล้มเหลวกับแผนการในการเข้ายึดครองกรุงเคียฟ จนกองทัพของพวกเขาต้องประกาศถอนตัวออกจากพื้นที่รอบเมืองหลวงของยูเครน และประกาศทุ่มสรรพกำลังของตัวเองไปยังพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนอย่างดอนบาส สถานที่ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนยึดครองพื้นที่มายาวนานตั้งแต่ปี 2557 เช่นเดียวกันกับไครเมียซึ่งถูกรัสเซียผนวกไปจากยูเครนในปีเดียวกัน การถอนทัพของรัสเซียเปิดเผยให้เห็นถึงการกระทำอันเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมในเมืองบูชา เช่นเดียวกันกับสงครามในฉากต่อไปที่เมืองมารีอูปอล ซึ่งถูกกองทัพรัสเซียเข้าทำลายล้างอย่างสยดสยอง
หลังจากความพ่ายแพ้ของรัสเซีย ปูตินประกาศการระดมกำลังพลหลายแสนนาย ก่อนเปิดฉากเข้ารุกรานพื้นที่ทางตอนใต้ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนในระยะต่อมา ยังมีรายงานว่ารัสเซียใช้ทหารรับจ้างอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ กองทัพของปูตินเข้ารุกรานโอเดสซา เคอร์ซอน ซาปอริซเซีย มารีอูปอลทางตอนใต้ รวมถึงการบุกยึดพื้นที่ในคาร์คีฟทางตอนเหนือ และผนึกกำลังของตัวเองในพื้นที่ดอนบาสอันประกอบไปด้วยโดนเนตสก์และลูฮานสก์ นอกจากนี้ การถล่มยิงขีปนาวุธยังคงดำเนินต่อไปจนมาถึงช่วงเวลาในปัจจุบัน
หลังจากสถานการณ์อันกดดัน ยูเครนสามารถกลับมาพิชิตเมืองต่างๆ ของตัวเองจากการยึดครองของรัสเซียได้อย่างรุกคืบมาจนถึงช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ความล่าถอยของรัสเซียปรากฏออกมาเป็นปฏิกิริยาการเปิดทำประชามติปลอม ก่อนการประกาศผนวก 4 พื้นที่อย่าง โดเนสตก์ เคอร์ซอน ลูฮานสก์ และซาปอริซเซีย เข้าเป็นของตัวเอง แม้รัสเซียจะควบคุมพื้นที่ทั้งหมดไม่ได้โดยสมบูรณ์ก็ตาม ปัจจุบัน ยูเครนสามารถจำกัดวงการปะทะอยู่ในด่านหน้าของสมรภูมิบริเวณทางตะวันออกของยูเครน
ในตอนนี้สงครามยังคงปะทุอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองบักห์มุต ตอนเหนือของโดเนสตก์ ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทางการทหารของรัสเซีย เพราะมันจะเป็นชัยชนะของรัสเซียที่ไม่มีมาเลยตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีก่อน อีกทั้งยังเป็นความสำเร็จด้านจิตวิทยาของทั้งสองชาติหากใครสามารถมีชัยในสมรภูมินี้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของสงครามยังคงตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และยังคงไม่มีการรุกคืบอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.ปีก่อน
หลังจากสงครามที่เดินหน้ายืดเยื้อยาวนานมากว่า 1 ปี มีการยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการโดยสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า มีประชาชนชาวยูเครนเสียชีวิตจากสงครามในครั้งนี้ไปแล้วกว่าเกือบ 8,000 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่าอีกเกือบ 13,300 ราย อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ยังไม่ถูกนับของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจริง อาจมีมากกว่ารายงานอย่างเป็นทางการ
ยังมีรายงานอีกว่าประชาชนชาวยูเครนกว่า 14 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ของตัวเอง วิกฤตผู้อพยพยูเครนนับเป็นคลื่นการลี้ภัยสงครามในยุโรปที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา เช่นเดียวกันกับรูปแบบของสงครามที่รุนแรงที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนชาวยูเครนส่วนมากลี้ภัยออกนอกประเทศ ในขณะที่ 7 ล้านคนในนั้นต้องพลัดถิ่นที่เกิดอยู่ในประเทศตัวเอง จำนวนมากถูกบังคับให้เดินทางเข้าสู่รัสเซียในฝั่งตะวันออก มีรายงานการลักพาตัวเด็กชาวยูเครนจำนวนมากเข้าไปยังฝั่งรัสเซียเช่นกัน ทั้งนี้ มีประชาชนยูเครนจำนวนมหาศาล ที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับมายังบ้านเกิดของพวกเขาได้
ถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการของทั้งสองชาติคู่ขัดแย้งว่า พวกเขาสูญเสียกองกำลังของตัวเองไปเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจมีกำลังพลของตัวเองได้รับบาดเจ็บล้มตายไปในสมรภูมิยูเครนแล้วกว่า 200,000 นาย โดย 60,000 นายในนั้นถูกสังหารในสมรภูมิ ในขณะที่ยูเครนเองอาจมีกำลังพลได้รับบาดเจ็บล้มตายไปประมาณ 100,000 นาย
สงครามในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อยูเครนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.78 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดคำนวณจากความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนเป็นหลัก ในขณะที่สงครามได้ส่งผลให้รัสเซียสูญเสียเม็ดเงินไปอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.84 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ รัฐบาลยูเครน คณะกรรมาธิการยุโรป และธนาคารโลกคาดว่า พวกเขาต้องใช้เงินจำนวนกว่า 3.49 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 12 ล้านล้านบาท) ในการฟื้นคืนประเทศกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
สำหรับด้านเศรษฐกิจเอง รัสเซียได้รับผลกระทบจากการทำสงคราม ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ประเทศลดลงไป 2.2% น้อยกว่าการคาดการณ์ของ IMF ที่แต่เดิมคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจมีขนาดเศรษฐกิจที่ลดลงไปถึง 6% โดยเศรษฐกิจรัสเซียที่ถึงแม้จะถูกนานาชาติประกาศคว่ำบาตร ยังคงได้รับอานิสงส์จากการค้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินกับจีนและอินเดีย ในขณะที่ยูเครนเองมีขนาดทางเศรษฐกิจลดลงไปกว่า 50% หลังจากรัสเซียเริ่มการรุกราน และยูเครนจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการฟื้นคืนประเทศของตัวเอง
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ปูตินขึ้นกล่าวสุนทรพจน์นานนับชั่วโมง เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสงครามในยูเครนและการสั่งโจมตีศัตรูของเขา โดยความเห็นของประธานาธิบดีรัสเซียเป็นการเล่าภาพของชาติตะวันตกและยูเครน ในฐานะผู้ก่อให้เกิดสงครามที่กินเวลามาเกือบ 1 ปีเต็มแล้ว อย่างไรก็ดี ชาติพันธมิตรตะวันตกปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของรัสเซียมาโดยตลอด
ในการขึ้นพูดนานกว่าชั่วโมง ปูตินพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการรุกรานของรัสเซีย โดยประธานาธิบดีรัสเซียอ้างว่า รัสเซียพยายามช่วยให้พลเมืองในภูมิภาคดอนบาสมีปากมีเสียงและพูดใน "ภาษาของตัวเอง" ในขณะที่รัสเซียในตอนนี้กำลังหาทางออกอย่างสันติจากความขัดแย้ง
ปูตินยังอ้างถึงการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และระบบป้องกันขีปนาวุธแบบใหม่ของยุโรปว่าเป็นการยั่วยุรัสเซีย และกล่าวว่าเป้าหมายของตะวันตกคือ "อำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุด" นอกจากนี้ ปูตินยังใช้คำปราศรัยเพื่อประกาศว่ารัสเซียกำลังระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญา New START กับสหรัฐฯ ที่มีเนื้อหาในข้อตกลงในการจำกัดคลังอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ NATO ได้เรียกร้องขอให้ปูตินทบทวนความคิดในการระงับข้อตกลง New START ของตัวเอง
ในการกล่าวสุนทรพจน์ ปูตินยังได้กล่าวถึงกรณีของดอนบาส โดยประธานาธิบดีรัสเซียอ้างว่ารัสเซียเห็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคที่มีความขัดแย้ง ก่อนการรุกรานในวันที่ 24 ก.พ. “เราไม่สงสัยเลยว่าภายในเดือน ก.พ. 2565 ทุกอย่างถูกเตรียมพร้อมเพื่อการดำเนินการอันเป็นโทษต่อดอนบาส ซึ่งระบอบการปกครองของยูเครนได้จัดหาปืนใหญ่ และเครื่องบิน และอาวุธอื่น ๆ เพื่อโจมตีดอนบาสในปี 2557 ในปี 2558 พวกเขาพยายามโจมตีดอนบาสโดยตรงอีกครั้ง พวกเขายังคงระดมยิงด้วยความหวาดกลัว” ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าว
“ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับเอกสารที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยอมรับโดยสิ้นเชิง ผมอยากจะพูดซ้ำอีกครั้งว่า พวกเขาเป็นคนเริ่มสงคราม และเราใช้กำลังเพื่อหยุดมัน” ปูตินอ้างว่ารัสเซียไม่มีส่วนรับผิดชอบจากสงครามยูเครนในครั้งนี้
ปูตินยังตอกย้ำอีกว่า รัสเซียพร้อมที่จะกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีรัสเซียได้กล่าวในหลายโอกาสว่า รัสเซียพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากรัสเซียรู้สึกถึงภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของตัวเอง ความพยายามในการระงับข้อตกลง New Start ในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์กับทางสหรัฐฯ จึงสร้างความวิตกกังวลให้แก่สถานการณ์ความขัดแย้งเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
ปัจจุบันนี้ พันธมิตรหลักของรัสเซียในสงครามยังคงเป็นเบลารุส ภายใต้การนำของ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส หลังจากการให้ความช่วยเหลือในช่วงแรกของสงคราม เพื่อให้รัสเซียใช้พรมแดนของเบลารุสที่ติดกันกับยูเครน ในการเป็นช่องทางเข้ารุกรานล้อมรอบกรุงเคียฟ ก่อนที่จะประสบกับความล้มเหลว ทั้งนี้ ลูคาเชนโกประกาศในช่วงก่อนการครบรอบ 1 ปีของสงครามว่า เบลารุสพร้อมเข้าร่วมสงครามหากพบทหารยูเครนแม้แต่นายเดียวรุกล้ำเข้ามายังดินแดนของเบลารุส
รัสเซียยังคงได้ความช่วยเหลือในการจัดหาอาวุธจากเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะกระสุน ในขณะที่มีรายงานระบุพบเจอโดรนของอิหร่านที่ถูกนำมาใช้ในการโจมตียูเครนโดยรัสเซีย อย่างไรก็ดี พันธมิตรคนสำคัญของรัสเซียอย่างจีน กล่าวอ้างว่าตัวเองยังคงวางบตัวเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้ง และประกาศเรียกร้องสันติภาพ พร้อมขอให้ทุกชาติเคารพหลักบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ แม้ว่าจีนเองจะไม่เคยออกมาประณามการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครนเลยก็ตาม
ก่อนหน้าวันครบรอบสงครามได้ 3 วัน ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาระบุว่า ทางการจีน “กังวลอย่างยิ่ง” จากความขัดแย้งในยูเครนที่ดำเนินมานานแล้วเกือบปี และสถานการณ์ดูเหมือนจะ “ทวีความรุนแรงขึ้นและกระทั่งกำลังควบคุมไม่ได้” แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทางการจีนจะได้ประกาศริเริ่มความร่วมมือแบบ “ไร้ขีดจำกัด” กับรัสเซียไม่นานก่อนที่รัสเซียจะเข้ารุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ในขณะที่จีนยังคงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “รุกราน” หรือประณามการกระทำของรัสเซียในยูเครน
“เราขอเรียกร้องให้บางประเทศหยุดเติมเชื้อไฟในทันที” ฉินกล่าวระหว่างการขึ้นพูดที่การประชุมหลันทิง บนประเด็นความมั่นคงระดับโลกในกรุงปักกิ่ง โดยฉินเน้นย้ำว่าจีนจะ “ทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการเจรจาและการปรึกษาหารือ จัดการกับข้อกังวลของทุกฝ่าย และแสวงหาความมั่นคงร่วมกัน ทั้งนี้ จีนและอินเดียเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย ในช่วงการประกาศคว่ำบาตรอันเป็นผลพวงจากสงครามยูเครนมากที่สุด
หลังจากการร้องขอความช่วยเหลือด้านการทหารมาอย่างยาวนานจากทางเซเลนสกี เมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อนุมัติให้มีการส่งรถถัง Leopard ซึ่งผลิตโดยเยอรมนีเข้าไปยังยูเครน เพื่อช่วยในการรับมือกับการรุกรานระลอกใหม่ของรัสเซีย ซึ่งเซเลนสกีระบุว่าได้เริ่มขึ้นแล้ว โชลซ์ระบุว่ารถถัง Leopard จะถูกจัดส่งไปถึงสมรภูมิในยูเครนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ พร้อมกันนี้ ชาติตะวันตกกำลังพิจารณาการส่งรถถัง Leopard ที่ตัวเองมีอยู่ในคลังแสงไปให้แก่ยูเครนเช่นกัน
ในช่วงของสงครามซึ่งตรงกันกับวาระครบรอบ 1 ปีการรุกราน จะเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อและสามารถชี้ชัดขึ้นไปได้ในอีกระดับว่าใครจะเป็นผู้แพ้และชนะในสงครามนี้ ทั้งนี้ พันธมิตรหลักของยูเครนยังคงเป็นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ยังคงเดินหน้าการส่งมอบความช่วยเหลือยูเครน ในขณะที่เซเลนสกียังคงกังวลถึงความเร็วที่ความช่วยเหลือจะถูกจัดส่งมาถึง
ในขณะนี้ยูเครนยังคงเดินหน้าการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตัวเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อย่างไรก็ดี คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่ากำลังใจที่กล้าแกร่งของชาวยูเครน ไม่เพียงพอต่อการต้านทานจากการรุกรานของรัสเซียได้ หากปราศจากความช่วยเหลือเป็นเม็ดเงินและยุทโธปกรณ์ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติ
ปัจจุบันนี้ ยูเครนได้รับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกคิดเป็นมูลค่ารวมกันแล้วกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท) ทั้งในความช่วยเหลือแบบทวิภาคด้านมนุษยธรรม ตลอดจนด้านการทหาร ทั้งนี้ ชาติพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังคงประกาศเพิ่มความช่วยเหลือแก่ยูเครนอีกกว่าครึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ชาติสมาชิก NATO อื่นๆ กำลังพิจารณาตลอดจนเร่งส่งอาวุธมาช่วยยูเครนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ไบเดนได้เดินทางเยือนกรุงเคียฟอย่างไม่แจ้งกำหนดการก่อนล่วงหน้า เพื่อแสดงการตอกย้ำว่า สหรัฐฯ จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนประชาธิปไตย อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นอิสระของยูเครนต่อไป ทั้งนี้ สหรัฐฯ คาดการณ์กับยูเครนว่า สงครามในครั้งนี้อาจจะยุติลงในช่วงปลายปี 2566 นี้ และยืนยันว่าชัยชนะจะต้องเป็นของยูเครน
ก่อนหน้านี้ ไบเดนเน้นย้ำมาตลอดว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือยูเครน "นานเท่าที่จะนานได้" แม้จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยม และการให้การสนับสนุนจากประชาชนภายในประเทศ อีกทั้งสถานการณ์ของสงครามยังคงห่างไกลจากโต๊ะเจรจาสันติภาพใดๆ
ไบเดนโต้กลับหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ของปูตินเพียงไม่กี่ชั่วโมงว่า “ปูตินคิดว่าโลกจะพลิกหมุนไป เขาคิดผิด” พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า NATO เป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่าที่เคย ในขณะที่ยูเครนยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง หยิ่งทะนง สูงส่ง และเป็นอิสระ และการสนับสนุนของชาติตะวันตกแก่ยูเครนจะไม่ล้มเหลว
ในแถลงการณ์ของทำเนียบขาวในช่วงการเดินทางเยือนกรุงเคียฟ ไบเดนระบุว่า “ตอนที่ปูตินเริ่มรุกรานเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว เขาคิดว่ายูเครนอ่อนแอและตะวันตกถูกแบ่งแยก เขาคิดว่าเขาสามารถอยู่ได้นานกว่าพวกเรา” ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์ที่ออกโดยทำเนียบขาวย้ำว่า “แต่เขาคิดผิด”
การรุกคืบยูเครนโดยรัสเซียในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของสงคราม ทั้งนี้ ปูตินระบุว่าทหารรัสเซียซึ่งถูกเกณฑ์ใหม่จำนวน 50,000 นาย ได้เข้าประจำการในแนวหน้ารบแล้ว ในขณะที่ทหารเกณฑ์ใหม่อีกจำนวน 250,000 นายเตรียมเข้าสู่สงครามในปีนี้ ทั้งนี้ ปูตินเน้นน้ำหนักคำพูดของตัวเองว่า รัสเซียจะไม่มีวันหยุดการทำปฏิบัติการนี้ ในขณะที่เซเลนสกียืนยันว่า ยูเครนจะยังคงสู้กลับต่อไปเพื่อพิทักษ์อธิปไตยของชาติตัวเอง
มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์สหรัฐฯ ว่า ยูเครนจะสามารถรื้อฟื้นบูรณภาพแห่งดินแดนของตัวเองได้ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ชัยชนะของยูเครน ที่แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงขับเคลื่อน ความตั้งใจ และความกล้าหาญของกองทัพและประชาชนยูเครน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายูเครนจำต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาวุธจากพันธมิตร NATO การจัดส่งอาวุธจากชาติตะวันตกมาให้แก่ยูเครน เช่น รถถัง เครื่องบินรบ และขีปนาวุธระยะไกล จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสงครามที่ปัจจุบันยังคงมีความชะงักงัน
ยูเครนจำต้องเข้ายึดคืนพื้นที่มาลีโตโปล เพื่อหาทางออกสู่ทะเลอซอฟ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย หลังจากการเปิดฉากรุกล้ำและยึดพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านโดยปูตินเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะตัดช่องทางการส่งเสบียงและการสื่อสารของรัสเซียไปยังไครเมียได้อย่างเห็นผล ชัยชนะของยูเครนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปในอีกรูปแบบหนึ่ง เท่าที่โลกเคยพบเห็นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ปูตินยังคงวาดหวังให้ยูเครนยอมจำนนต่อรัสเซียอย่างไร้เงื่อนไข ในขณะที่เซเลนสกียืนยันว่ายูเครนจะไม่ยอมเจรจากับรัสเซีย หากปูตินยังคงเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย และยูเครนจะต้องย้อนกลับสถานะการควบคุมดินแดนของตัวเองให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งหมายความว่า เซเลนสกีประกาศชัดเจนว่า ไครเมียซึ่งถูกยึดและผนวกไปเป็นของรัสเซีย จะต้องกลับคืนมาเป็นของยูเครนตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ และความชอบธรรมบนหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอีกครั้ง
การเมืองภายใต้ของรัสเซียยังคงเป็นประเด็นสำคัญ ต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สงครามยูเครน ราคาที่ต้องจ่ายของสงคราม ทั้งเม็ดเงิน ทรัพยากรมนุษย์ ดุลอำนาจ และยุทโธปกรณ์ อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างชนชั้นนำรัสเซียในปัจจุบัน แม้วี่แววดังกล่าวจะยังคงห่างไกลจากการเกิดขึ้นได้จริงในช่วงเวลาอันใกล้นี้ และท่าทีวงอำนาจรอบตัวประธานาธิบดีรัสเซีย จะยังคงมีความจงรักภักดีต่อปูติน แม้ชาติตะวันตกจะประกาศคว่ำบาตรอย่างรุนแรง
นักวิเคราะห์สหรัฐฯ มองว่า จากแรงเคลื่อนตัวในสถานการณ์ของสงคราม ณ ตอนนี้ ซึ่งโน้มไปทางฝั่งยูเครน ช่วยตอกย้ำและเน้นหนักไปที่ภาพในอนาคตว่ายูเครนจะชนะสงคราม และรัสเซียจะแพ้ใน “ปฏิบัติการพิเศษ” ของตัวเอง แม้ภาพฝันดังกล่าวอาจจะยังอยู่ห่างไกลกระทั่งว่าสงครามครบรอบเวลา 1 ปีไปแล้วก็ตาม ยังมีความเชื่อว่ายูเครนอาจยึดคืนไครเมียกลับมาเป็นของตัวเองอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ อย่างไรก็ดี ท่าทีของการยอมแพ้จากทางรัสเซียก็ยังคงไกลเกินเอื้อมฝัน
กองทหารซึ่งถูกเกณฑ์มาใหม่จำนวนกว่า 300,000 นายของรัสเซียได้เริ่มเข้าไปยังพื้นที่สงครามแล้ว ทำให้คำถามที่ว่าสงครามจะจบลงเช่นใดคงไม่ใช่คำถามหลักที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ การยึดครองโดเนตสก์และลูฮานสก์โดยรัสเซียอาจจะยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกำลังจากพื้นที่ทางตอนใต้ขึ้นมายังปาฟโลกราด เพื่อโอบล้อมกองกำลังของยูเครนในพื้นที่ดอนบาสมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้น แต่การโจมตีด้วยขีปนาวุธจากรัสเซียใส่โครงสร้างพื้นที่พลังงานของยูเครน อาจส่งผลให้ยูเครนประสบกับความยากลำบากอย่างที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่มานานนับปีนี้
สถานการณ์อาจซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปจากเดิมอีก หลัง หวังอี้ นักการทูตระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เดินทางเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าพบกับปูตินเมื่อช่วงกลางสัปดาห์นี้ อันเป็นการยุติลงของการวางตัวเป็นกลางของจีนท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน ยังมีข้อสงสัยจากสหรัฐฯ ว่า จีนกำลังพิจารณามอบความช่วยเหลือเป็นอาวุธแก่รัสเซียในสงครามที่ยูเครน ในขณะที่ทางการจีนปฏิเสธว่าข้อสงสัยของสหรัฐฯ ไม่เป็นความจริง ความขัดแย้งที่ซับซ้อนขึ้น และสงครามที่ยังยากต่อการหาทางลงของรัสเซีย จะยิ่งทวีคูณความโหดร้ายของสมรภูมิให้รุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
การยกระดับสถานการณ์ของสงครามยูเครนในปีนี้อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรง วิกฤตพลังงานและอาหารโลกจะยังคงไม่หมดไป และอาจส่งผลกระทบในช่วงเวลาระยะยาว ทุกชาติในความขัดแย้งครั้งนี้ โดยเฉพาะรัสเซียและยูเครน จะประสบกับความอ่อนล้าจากการทำสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การคว่ำบาตรต่อรัสเซียของชาติตะวันตกจะกัดกินรัสเซียจากผิวหนังลงไปถึงกระดูกของพวกเขา แต่การกัดไม่ปล่อยของรัสเซียที่มีต่อยูเครนเอง ก็จะสร้างความสูญเสียทั้งโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งนี้ ปี 2566 จะยังคงเป็นปีที่ยากเย็นแสนเข็ญของทุกฝ่าย
สถานการณ์สงครามยูเครนยังคงห่างไกลจากการสรุปได้ว่าเมื่อไหร่ข้อยุติจะมาถึง ทั้งนี้ ท่าทีของรัสเซียในการยกระดับการรุกรานยังคงเดินหน้าต่อไป และจะยิ่งทวีคูณความซับซ้อนของความขัดแย้งให้หยั่งรากลงลึกไปมากกว่าเดิม ในขณะที่ชาติตะวันตกยืนยันว่า พวกเขารวมกันเป็นหนึ่ง และปูตินคิดผิดที่ว่าทุกคนจะหันหลังให้กับยูเครน รวมถึงทางด้านยูเครนเองที่ยังคงเดินหน้าปกป้องดินแดนของตัวเองอย่างสุดชีวิต ให้สมกับท่อนหนึ่งในเพลงชาติของพวกเขาที่ว่า “ศัตรูของเราจะมลายหายไป เสมือนน้ำค้างกลางแดดสุริยน...”