หนังสือพิมพ์รายวันอิลตาลีฮ์ติของฟินแลนด์รายงานเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) ว่า สวีเดนได้ “เปิดเผยว่าทั้งสองประเทศมีความเต็มใจในการเข้าร่วม” องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในวันเวลาเดียวกัน ในขณะที่ฟินแลนด์จะเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ “ตราบใดที่รัฐบาลสวีเดนได้ตัดสินใจในการเข้าร่วมของตน”
ก่อนหน้านี้ แม็กดาลีนา แอนเดอร์สสัน นายกรัฐมนตรีสวีเดนเปิดเผยว่า สวีเดนได้ตัดสินใจในการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หลังจากรักษาสถานะของความเป็นกลางมาอย่างยาวนาน จากการที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยการรุกรานดังกล่าวได้เปลี่ยน “ฉากทัศน์ด้านความมั่นคงทั้งหมด” และ “ปรับเปลี่ยนชุดความคิดทัศนคติ” ของยุโรปอย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์สวีเดนอย่างเอ็กซ์เพรสเซนรายงาน
ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ระบุว่าประเทศของตนที่มีพรมแดนติดกันกับรัสเซียกว่า 1,300 กิโลเมตร ได้เลือกที่จะตัดสินใจเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ “ค่อนข้างรวดเร็ว ในช่วงสัปดาห์ไม่ใช่เดือน” ถึงแม้ว่าจะเสี่ยงต่อการสร้างความไม่พอใจแก่รัสเซียอย่างรุนแรง
ในอีกทางหนึ่ง แอนเดอร์สสันกล่าวว่า สวีเดนจำเป็นจะต้อง “เตรียมความพร้อมจากทุกการกระทำของรัสเซีย” และ “ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว” เมื่อรัสเซียได้ทำการรุกรานยูเครน โดยรัสเซียได้ออกมาเตือนทั้งสองชาติมาอย่างสม่ำเสมอที่จะไม่ให้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีหญิงของทั้งสองชาติตัดสินใจเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนืออย่างไม่หวั่นเกรงรัสเซีย
รัสเซียออกมาขู่ในเบื้องต้นว่า ตนจะทำการ “ฟื้นฟูความสมดุลทางการทหาร” โดยการเพิ่มความแข็งแกร่งของกองทัพตนเองในบริเวณบอลติก รวมถึงการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในบริเวณดังกล่าว หากทั้งสองชาติอย่างสวีเดนและฟินแลนด์ตัดสินใจละทิ้งสถานะการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และตัดสินใจเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือแทน
อานน์ ลินเด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนเผยว่า สวีเดนได้ตัดสินใจทบทวนนโยบายด้านความมั่นคงในภาพกว้างให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 13 แทน 31 พ.ค.ตามแผนเดิมแทน ทั้งนี้ เอ็กซ์เพรสเซนคาดการณ์ว่า ทั้งสองชาติอาจยื่นใบสมัครสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในวันที่ 16 พ.ค. ซึ่งตรงกับโอกาสที่ ซาวลี นีย์นิสเตอ ประธานาธิบดีฟินแลนด์มีกำหนดการเยือนสวีเดน ทั้งนี้ The Guardian ระบุว่ารายงานข่าวดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด
จากผลสำรวจล่าสุดในฟินแลนด์เปิดเผยว่า ประชาชนชาวฟินแลนด์กว่า 68% อยากให้ประเทศของตนเองเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียถึงสองเท่าตัว และมีประชาชนเพียงแค่ 12% เท่านั้นที่ต่อต้าน ในขณะที่ประชาชนเกินครึ่งของสวีเดนก็ต้องการให้ประเทศของตนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือด้วยเช่นกัน
ฟินแลนด์และสวีเดนยึดสถานะการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการทหารมาตลอด แต่อย่างไรก็ดี ทั้งสองชาติมีความใกล้ชิดในการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและการร่วมซ้อมรบกับทางองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมาโดยตลอด หลังจากที่ทั้งสองชาติละทิ้งสถานะความเป็นกลาง และเข้าร่วมสหภาพยุโรปเมื่อปี 2538 หลังจากสงครามเย็นจบลง
ที่มา: