ไม่พบผลการค้นหา
ศาลพิพากษาจำคุก 'สิรภพ' หรือ 'รุ่งศิลา' 6 ปี คดี 112 จากการโพสต์บทกวี และภาพการ์ตูน ในสื่อโซเชียลมีเดีย 3 ครั้ง โดยศาลชี้ว่ามีความผิดตาม ม.112 2 กรรม ลงโทษกรรมละ 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดให้ 1 ใน 4 เหลือคุก 4 ปี 6 เดือน

ศาลอาญา ถนนรัชดา มีนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ 83 ก./2557 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง สิรภพ หรือ รุ่งศิลา ความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามมาตรา 14 (3) , 14 (5) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์บทกวี และภาพการ์ตูน 3 ครั้ง ซึ่งเผยแพร่ในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อปี 2552 และในเว็บบล็อก-เฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2556-2557 

โดยศาลพิพากษาว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม ม.112 จำนวน 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษจำคุก 1 ใน 4 เหลือจำคุกรวม 4 ปี 6 เดือน ส่วนกรณีที่เป็นการเผยแพร่ในเว็บบอร์ดประชาไทนั้นยกฟ้อง

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการอ่านคำพิพากษา 'สิรภพ' ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 4 ปี 11 เดือน 18 วัน เนื่องจากไม่ได้อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จึงทำให้เขาไม่ต้องรับโทษจำคุกเพิ่มแล้ว

สำหรับการจับกุม เว็บไซต์ไอลอว์ ได้บันทึกข้อมูลไว้ว่า สิรภพถูกควบคุมตัวหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยเจ้าหน้าที่ทหารขณะกำลังเดินทางผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี ขณะเดินทางด้วยรถตู้อยู่บนถนนกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 พร้อมอาวุธครบมือลงมาจากรถ และมีทหารจากรถอีกคันจอดประกบอยู่ด้านหลังพร้อมอาวุธครบมือเข้าล้อมรถ ทหารบังคับให้ทุกคนหมอบลงบนพื้นที่เปียกด้วยฝน

ต่อมาได้นำตัวสิรภพ ไปที่หน่วยราชการในจังหวัดกาฬสินธุ์หนึ่งคืน หลังจากนั้นจึงนำไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน และถูกฝากขัง ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 11 มิ.ย. 2562

สิรภพ  (ตัดสินคดี 112) ศาลอาญารัชดา_๒๑๐๑๑๘_0.jpg

หลังการพิจารณาของศาล สิรภพ ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่แน่ใจว่าทางอัยการจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่่ แต่คิดว่าจะยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อ เนื่องจากการต้องให้มีการเปิดเผยความจริงว่า ข้อความต่างๆ บทกวีที่ได้เขียนขึ้นนั้นมีเนื้อหาอย่างไรต่อสาธารณชนให้ได้พิจารณาว่า การที่เขาถูกจับกุม ดำเนินคดี และถูกตัดสินลงโทษนั้นชอบธรรมหรือไม่

สิรภพ กล่าวถึงการตัดสินใจต่อสู้คดีในช่วงหลังการรัฐประหาร แม้จะต้องถูกควบคุมตัวโดยที่ยังไม่มีการพิจารณาคดีว่า ไม่ได้มีเพียงแค่คนเดียวที่ถูกขังระหว่างการพิจารณาคดี และไม่ได้รับการปล่อยตัว เพียงแต่ตนเป็นเคสที่ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีที่นานที่สุดเท่าที่เคยมีการฟ้องร้องกันมา และมองว่าเรื่องนี้เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการกับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ตัดสินคดี 112 สิรภพ