ไม่พบผลการค้นหา
เปิดสถิติคำพิพากษาคดี 112 ในเดือน ก.ย. 66 พิพากษา 6 คดี ลงโทษทั้งหมด ติดคุก 3 ได้ประกัน 2 รอลงโทษ 1

ตามข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งเดือนกันยายนที่ผ่าน พบว่ามีนัดพิพากษาคดี 112 ทั้งหมด 6 คดี (เป็นคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ 2 คดี) แบ่งเป็นคดีที่พิจารณาโดยศาลอาญา ในพื้นที่กรุงเทพ 3 คดี คือศาลอาญา ถนนรัชดา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนอีก 3 คดีเป็นการพิจาณราโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2 คดี และศาลจังหวัดเชียงใหม่ 1 คดี 

พฤติการณ์แห่งคดีทั้ง 6 เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งหมด โดยมีทั้งการแสดงความคิดเห็น การตั้งคำถามบนโซเชียลมีเดีย การชูป้ายข้อความ การพ่นสีข้อความ และการปราศรัยบนเวทีชุมนุม และทุกคดีเป็นคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

จำเลยจำนวน 6 ราย เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง 4 ราย และเป็นประชาชนทั่วไป 2 ราย ส่วนผลการตัดสินพบว่า ศาลตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ทุกคดี ไม่มีการยกฟ้อง ทั้งนี้มีจำเลย 3 รายไม่ได้รับการประกันตัว มี 2 รายที่ได้รับการประกันตัว และอีก 1 รายศาลสั่งให้รอการลงโทษไว้ก่อน 2 ปี 

รายละเอียด ดังนี้ 

6 ก.ย. พิมชนก ใจหงษ์ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ชั้นต้น) 

เหตุแห่งคดี โพสต์ข้อความ “รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็……”

ผลการตัดสิน ศาลตัดสินว่ามีความผิดตาม มาตรา 112 โดยเห็นว่ามีเจตนากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ โดยศาลเห็นว่ามาตรา 112 นั้นให้การคุ้มครองทั้งสถาบัน และบุคคลตามองค์ประกอบของ ม.112 ก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน 

ลงโทษ 3 ปี แต่เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา จำเลยยื่นขอประกันตัวศาลให้ประกัน วางหลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท 

13 ก.ย. สมบัติ ทองย้อย ศาลอุทธรณ์ 

เหตุแห่งคดี โพสต์ข้อความ กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ - ประกอบภาพข่าวบัณฑิตไม่เข้ารับปริญญา และเขียนข้อความวิจารณ์ โดยไม่ระบุว่าวิจารณ์ใคร (เรื่องการทำตัวใกล้ชิดประชาชน และการแจกลายเซ็นต์)

ผลการตัดสิน ศาลชั้นต้นมองว่าผิด 112 เนื่องจากเป็นการ ต่อต้านสถาบันฯ เป็นสิ่งที่ไม่บังควร มีลักษณะเป็นการจาบจ้วง ส่วนกรณีที่ 2 ศาลเห็นว่าเป็นการโพสต์กระทบกระเทียบ ร.10 เนื่องจากเห็นว่า เป็นการโพสต์ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงช่วงเวลาที่ ร.10 เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีวันปิยมหาราช ในวันที่ 23 ต.ค. 2563 และที่เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชน 

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก กระทงละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต่อ 

26 ก.ย. อานนท์ นำภา ศาลอาญา (ชั้นต้น) 

เหตุแห่งคดี ปราศรัยม็อบ 14 ต.ค. 2563 ตามคำฟ้องระบุว่า มีการกล่าวถึง ร.10 กับการสลายการชุมนุม

ผลการตัดสิน เห็นว่ากล่าวความเท็จ  ลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ยังไม่มีผลการพิจารณาเรื่องการประกันตัว 

27 ก.ย. มีชัย (สวงนนามสกุล) ศาลจังหวัดสมุทรปราการ (ชั้นอุทธรณ์) 

เหตุแห่งคดี โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ 2 ข้อความ วิจารณ์เรื่องงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ 

ผลการตัดสิน ศาลเห็นว่าแม้จะเป็นการตั้งคำถาม แต่ก็เป็นการตั้งคำถามด้วยความเท็จ และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ  ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ลงโทษจำคุก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ได้ประกัน

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ให้ประกันตัว

คนฟ้อง ศิวพันธุ์​ มานิตย์กุล

28 ก.ย. ธีรวัช ยอดสิงห์ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ (ชั้นต้น) 

เหตุแห่งคดี แชร์เพจคนไทยยูเค วิจารณ์การแต่งกาย ร.10

ผลการตัดสิน สั่ง  2 ปี 8 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน พิเคราะห์พฤติกรรมตามรายงานสืบเสาะ เห็นว่าความประพฤติของจำเลยไม่ปรากฎข้อเสียหายร้ายแรง ประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก เห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

คนฟ้อง ศิวพันธุ์​ มานิตย์กุล

28 ก.ย. รีฟ วีรภาพ ศาลอาญา (ชั้นต้น) 

แห่งเหตุคดี พ่นสีข้อความ ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้สัส (เขียนอีกแบบ)

ผลการตัดสิน ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ในข้อหา ม.112 เนื่องจากเห็นว่า ข้อความที่พ่นสี เป็นคำสบถ หยาบคาย เจตนาว่าร้ายพระมหากษัตริย์ ประชาชนทั่วไปพบได้ จึงทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย