ศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านสมองเปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด ที่ระบุว่าการเรียนดนตรีหรือพูดภาษาต่างประเทศถือเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สมองทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นักวิจัยจากสถาบันร็อตแมน ศูนย์ศึกษาด้านสมองของโรงพยาบาลและวิทยาลัยแพทย์เบย์เครสต์ ประเทศแคนาดา เปิดเผยผลการศึกษาที่พบว่านักดนตรีหรือผู้ที่พูดได้สองภาษาใช้สมองในการประมวลผลความทรงจำน้อยกว่าคนที่ไม่เคยเรียนดนตรีเลย หรือคนที่พูดได้เพียงภาษาเดียว
การค้นพบนี้พิสูจน์ได้ว่า ขณะที่ต้องทำกิจกรรมเดียวกัน นักดนตรีหรือผู้ที่สื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษาจะใช้สมองทำงานไม่หนักเท่าคนอื่น ซึ่งส่งผลให้มีความเสี่ยงน้อยลงในการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางความทรงจำ หรือโรคความจำเสื่อม
งานวิจัยนี้ศึกษาสมองของกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 19 ถึง 35 ปี จำนวน 41 คน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามคุณสมบัติ คือ กลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษและไม่เล่นดนตรี กลุ่มนักดนตรีที่พูดแต่ภาษาอังกฤษ และกลุ่มคนที่พูดได้สองภาษาแต่ไม่เล่นดนตรี โดยทีมงานได้ทดลองให้ผู้เข้าร่วมวิจัยจดจำเสียงที่ได้ยิน ก่อนจะพบว่านักดนตรีจดจำเสียงประเภทต่าง ๆ ได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่คนพูดสองภาษาและนักดนตรีจะทำคะแนนได้ดีในการทดสอบให้ระบบทิศทางของเสียง
ก่อนหน้านี้ เคยมีการศึกษาการทำงานของสมองในลักษณะเดียวกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่านักดนตรีหรือผู้มีความสามารถทางภาษามีความทรงจำที่ดีกว่าคนทั่วไป เช่น สามารถจดจำเบอร์โทรศัพท์ ขั้นตอนปฏิบัติงาน การคิดเลขในใจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์สามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น