เกษตรกรเซอร์เบียปรับตัวในยุคเทคโนโลยีด้วยการนำสัตว์เศรษฐกิจอย่าง 'ลา' ไปใช้ในภาคการผลิตที่เครื่องจักรไม่สามารถแทนได้ อย่างการผลิตน้ำนม จนเกิดเป็น 'ชีสนมลา' สินค้าขึ้นชื่อราคาแพงที่หาซื้อจากที่อื่นไม่ได้
สโลโบดัน ซีมิช หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงลาในประเทศเซอร์เบีย กล่าวว่า หลังจากผู้คนหันมาใช้เทคโนโลยีการเกษตรในการทำฟาร์ม ทำให้ลา ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่น ไม่มีงานทำและลดความสำคัญลง เขาจึงพยายามหาช่องทางที่จะทำให้ลา 'มีประโยชน์' โดยการนำน้ำนมลามาผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ เกิดเป็นของขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นอย่าง 'ชีสนมลา' ที่มีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 1,000 ยูโร หรือเกือบ 35,000 บาท และอาจเรียกได้ว่าเป็นชีสประเภทที่แพงที่สุดในโลก
นอกเหนือจากความแพงแล้ว ชีสที่ทำจากน้ำนมลานี้ยังมีสีขาว รสชาติเข้มข้น และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และถึงแม้จะยังไม่มีงานวิจัยมายืนยันความเชื่อนี้ แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นก็ชี้ให้เห็นว่า น้ำนมลามีโปรตีนสูง ทั้งยังเป็นอาหารที่องค์การสหประชาชาติแนะนำสำหรับผู้ที่แพ้นมวัวด้วย ขณะที่ เกษตรกรอย่าง ซีมิช เอง ก็กล่าวอย่างมั่นใจว่า น้ำนมลาสามารถเป็นอาหารทารกได้โดยไม่ต้องนำไปเจือจาง และมีคุณค่าไม่แพ้น้ำนมแม่เลย ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถบรรเทาอาการของโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบได้อีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมลามีราคาแพงก็คือ ลาเป็นสัตว์ที่ผลิตน้ำนมได้น้อย โดยผลิตได้เพียงวันละไม่ถึง 1 ลิตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวัวนมที่ผลิตได้วันละ 40 ลิตร สิ่งที่ทำให้หมู่บ้านซาซาวิกา ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย สามารถผลิตชีสนมลาที่ไม่มีใครเหมือนได้ก็คือ การนำน้ำนมลาที่ไม่ค่อยจับตัวเป็นก้อนมาผสมกับนมแพะในสัดส่วนที่พอเหมาะ จนเกิดเป็นก้อนชีสที่มีรสชาติลงตัวและมีคุณค่าทางโภชนาการ จนกลายเป็นของขึ้นชื่อที่มีขายเพียงปีละ 6 ถึง 15 กิโลกรัมเท่านั้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกเหนือจากชีสแล้ว เกษตรกรในท้องถิ่นยังทำสบู่นมลาและเหล้านมลาออกมาขายด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนหันมาเลี้ยงลากันมากขึ้น เกิดเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้หมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง